วันพุธที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2553

วัดบ้านกร่าง

วัดบ้านกร่าง สุพรรณบุรี


วัดบ้านกร่าง  เป็นวัดเก่าแก่ตั้งแต่สมัยอยุธยา สันนิษฐานว่าน่าจะมีอายุร่วม ๔๐๐ ปี เป็นวัดที่มีกรุพระขุนแผนบ้านกร่าง เป็นเนื้อดินเผาศิลปะอยุธยา สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นหลังสงครามยุทธหัตถีระหว่างสมเด็จพระนเรศวรมหาราชกับพระมหาอุปราช เมื่อตอนยกทัพกลับผ่านอำเภอศรีประจันต์ได้พักทัพริมฝั่งแม่น้ำสุพรรณบุรี ทรงรับสั่งให้ทหารสร้างพระเครื่องซึ่งเล่ากันว่าเป็นจำนวนถึง ๘๔,๐๐๐ องค์ บรรจุในกรุวัดบ้านกร่างเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่ทหารที่เสียชีวิต พระพิมพ์บ้านกร่างคู่เป็นพระที่มีความหมายมาก  ในการสร้างพระครั้งนี้แม่พิมพ์แกะเป็นสององค์คู่กัน โดยสมมติให้เป็นองค์สมเด็จพระนเรศวรมหาราชและสมเด็จพระเอกาทศรถพระรูปแบบนี้หายากในกรุอื่นๆ ทั่วประเทศไทย   สิ่งที่น่าสนใจภายในวัดได้แก่
                   พระอุโบสถและวิหาร เป็นโบราณสถานเก่าแก่ที่สร้างขึ้นในสมัยอยุธยาภายในประดิษฐานพระประธานองค์ใหญ่ ศิลปะสมัยอู่ทอง ใบเสมาที่เรียงรายรอบพระอุโบสถมีที่มาจากการนำพระวัดกร่าง พิมพ์ทรงพลใหญ่มาจำลองให้มีขนาดเท่าใบเสมา ใบเสมาของวัดนี้จึงมีลักษณะโดดเด่นไม่เหมือนวัดใดส่วนวิหารมีอายุราว ๔๕๐ ปี ประดิษฐานหลวงพ่อแก้วและพระประธานภายในวิหาร  
                  มณฑป อยู่ถัดจากวิหาร ประดิษฐานรอยพระพุทธบาทจำลอง สร้างขึ้นตั้งแต่ปีพ.ศ.๒๔๗๖ ด้านหลังวิหาร ประดิษฐาน เจดีย์ ที่ได้รับการปฏิสังขรณ์ใหม่ จากองค์เดิมที่สร้างในสมัยอยุธยาซึ่งชำรุดความสูงจากฐานถึงยอดเจดีย์ราว ๕.๗๐ เมตร สร้างขึ้นเพื่อบรรจุพระเครื่องตระกูลวัดบ้านกร่าง(พระขุนแผน)และภายในพระเจดีย์เคยพบพระพุทธรูปเนื้อสัมฤทธิ์จำนวน๒๐–๓๐องค์และพระเครื่องซึ่งมีลักษณะเป็นแก้วสีเขียว
บริเวณริมแม่น้ำประดิษฐานเจดีย์กลางน้ำ สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๔ มีอายุราว ๑๕๐ ปีมีลักษณะย่อมุมไม้สิบสอง แต่เดิมองค์พระเจดีย์ตั้งอยู่กลางแม่น้ำท่าจีน สร้างขึ้นไว้สำหรับคนทั่วไปสักการะบูชาในวันลอยกระทงแต่เนื่องจากกระแสน้ำเปลี่ยนทิศ เป็นเหตุให้พระเจดีย์ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำ  พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ เคยเสด็จทรงนมัสการเจดีย์กลางน้ำองค์นี้คราวเสด็จประพาสเมืองสุพรรณบุรีเมื่อวันที่ ๑๙ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๕๑และตั้งพลับพลาที่ตำบลบ้านกร่าง
บริเวณหน้าวัดริมแม่น้ำมีปลาอาศัยจำนวนมากทางวัดสร้างแพหลังคาทรงไทยขนาดใหญ่ ให้ผู้มาเที่ยวชมสามารถทำบุญเลี้ยงปลา นับเป็นอุทยานมัจฉาแห่งหนึ่งของจังหวัดสุพรรณบุรี  นอกจากนี้จะสังเกตเห็นเรือนแถวหน้าทางเข้าวัดบ้านกร่างเป็นเรือนแถวไม้สองชั้น แบบโบราณ บรรยากาศเงียบสงบ สะท้อนความเป็นอยู่เรียบง่ายแบบดั้งเดิมของผู้คนแถวนี้
การเดินทางจากทางหลวงหมายเลข ๓๔๐ ผ่านอำเภอศรีประจันต์ เข้าทางหลวงหมายเลข ๓๐๓๘ กิโลเมตรที่๑๔–๑๕ ริมฝั่งแม่น้ำสุพรรณบุรี(แม่น้ำท่าจีน) คนละฝั่งกับที่ว่าการอำเภอศรีประจันต์ห่างจากจังหวัดประมาณ ๒๐ กิโลเมตร
 เอกลักษณ์ของวัดนี้คือใบเสมาที่มีรูปลักษณ์เป็นพิมพ์พระขุนแผนทรงพลใหญ่ ไม่เหมือนใบเสมาในวัดใด ๆ น่าแปลกใจอยู่เหมือนกันว่าหลุดรอดจากการเป็นส่วนหนึ่งของUnseen Thailandไปได้อย่างไร
สำหรับเซียนพระแล้วเอ่ยชื่อวัดบ้านกร่างเป็นต้องนึกถึงพระขุนแผน ซึ่งมีชื่อในด้านคงกระพันชาตรีและเมตตามหานิยมเชื่อกันว่าสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงรับสั่งให้สร้างพระเครื่องบรรจุไวในกรุ หลังจากเสร็จสิ้นสงครามยุทธหัตถีโดยพิมพ์ที่เป็นเอกลักษณ์ของวัดบ้านกร่างคือพระพิมพ์คู่ ที่สมมติให้เป็นองสมเด็จพระนเรศวรมหาราชและสมเด็จพระเอกาทศรถ
                นอกจากใบเสมาอันมีที่มาจากพระกรุขุนแผนแล้ววัดบ้านกร่างยังมีรอยพระพุทธบาทจำลองประดิษฐานอยู่ในมณฑปข้างโบสถ์ และถัดไปก็คือวิหารหลวงพ่อแก้วซึ่งด้านในประดิษฐานพระพุทธรูปเก่าแก่หลายองค์


ภาพวัดบ้านกร่าง




               
                   

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น