ศาลหลักเมือง
ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง
ที่ตั้ง
ศาลหลักเมืองตั้งอยู่ในเขตเมืองโบราณสุพรรณบุรี บนถนนมาลัยแมน ตำบลรั้วใหญ่ อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี
สาระสำคัญ
ชาวสุพรรณนิยมเรียกศาลหลักเมืองว่า "ศาลเจ้าพ่อหรือศาลเจ้าพ่อหลักเมือง"
อยู่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำสุพรรณบุรี (แม่น้ำท่าจีน) ห่างจากฝั่งแม่น้ำไปตามถนนมาลัยแมน เดิมเป็นศาลไม้ทรงไทยมีเทวรูปพระอิศวรและพระนารายณ์สวมหมวกเติ๊ก(หมวกทรงกระบอก) สลักด้วยหินสีเขียว ปัจจุบันได้สร้างศาลเป็นรูปวิหารและเก๋งจีน เจ้าพ่อหลักเมืองนี้เป็นพุทธประติมากรรมสลักบนแผ่นหินแบบนูนต่ำในพุทธศาสนาลัทธิมหายาน แบบศิลปเขมรอายุราว พ.ศ.1185–1250 หรือประมาณ 1,300-1,400 ปีมาแล้ว มีพระนามว่า พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร หรือที่เรียกกันว่า พระนารายณ์สี่กร เป็นที่สักการะบูชาทั้งชาวไทยและชาวจีน ตามประวัติกล่าวว่า ประมาณ 150 ปีมาแล้วมีผู้พบพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร จมดินจมโคลนอยู่ริมคลองศาลเจ้าพ่อ จึงได้ช่วยกันอัญเชิญขึ้นข้างบนพร้อมกับสร้างศาลเป็นที่ประทับ ในคราวเสด็จประพาสต้นเมื่อ พ.ศ. 2447 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเคยเสด็จทรงกระทำพิธีกรรมเจ้าพ่อหลักเมืองและพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ก่อเขื่อนรอบเนินศาล ทำชานสำหรับคนบูชา สร้างกำแพงแก้ว ต่อตัวศาลออกมาเป็นเก๋งแบบจีน สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัติวงศ์กับเจ้าพระยายมราช ทรงสนพระทัยในการปรับปรุงศาลเจ้าพ่อหลักเมืองเมื่อในราว พ.ศ. 2480 ทุกปีในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 7 ของจีน มีการสร้างกำแพงล้อมเขตเป็นรูปสี่เหลี่ยม มีประตูเข้าด้านหน้า มีศาลาพักคนบูชา และปี พ.ศ. 2507 คณะกรรมการศาลเจ้าพ่อหลักเมืองได้ปรับปรุงซ่อมแซมศาลหลักเมืองใหม่ และยังคงรูปแบบอาคารซึ่งเป็นอาคารทรงไทยไว้ภายในอาคารทรงตึกซึ่งเป็น สถาปัตยกรรมแบบจีนอีกด้วย หลังจากนั้นก็มีการซ่อมแซมก่อสร้างเรื่อยมาจนปัจจุบันและกำหนดเป็นประเพณีบวงสรวงศาลหลักเมืองหรือ "ปูนเถ้าก๋ง" ขึ้นเป็นการประจำปีในทุกวันที่ 18 เดือน 7 หลังวันสารทจีนตามปฏิทินจีน เรียกว่า งานทิ้งกระจาด เป็นคติพุทธมหายาน ถือเป็นการเจริญเมตตาธรรมแก่ดวงวิญญาณที่ล่วงลับไปแล้ว ผู้คนในตลาดจะนำเครื่องอุปโภคบริโภคมาแจกจ่ายเป็นทานแก่ผู้ยากจน และได้ปฏิบัติประเพณีนี้อย่างยิ่งใหญ่สืบเนื่องกันมายาวนานจนถึงปัจจุบัน
การขึ้นทะเบียน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น