วันพุธที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2553

พระบรมราชานุสรณ์ดอนเจดีย์

พระบรมราชานุสรณ์ดอนเจดีย์

พระบรมราชานุสรณ์ดอนเจดีย์ ประกอบด้วย พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงพระคชาธารออกศึก และ องค์เจดีย์ยุทธหัตถี สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงสร้างเจดีย์ขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองชัยชนะในสงคราม ยุทธหัตถีที่ทรงมีต่อพระมหาอุปราชาแห่งพม่าเมื่อเดือนมกราคมในปี พ.ศ.2135 และในปี พ.ศ. 2495 กองทัพบกได้บูรณะปฏิสังขรณ์องค์เจดีย์ขึ้นใหม่ โดยสร้างเป็นเจดีย์แบบลังกาทรงกลมใหญ่ สูง 66 เมตร ฐานกว้างด้านละ 36 เมตร ครอบเจดีย์องค์เดิมไว้
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงเสด็จไป ประกอบพิธีบวงสรวงและเปิดพระบรมราชานุสรณ์ดอนเจดีย์เมื่อวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2502 ซึ่งรัฐบาลได้กำหนดให้วันที่ 25 มกราคม ของทุกปี เป็นวันถวายราชสักการะพระบรมราชานุสรณ์ดอนเจดีย์และถือเป็นวันกองทัพไทย พร้อมกันนั้นทางจังหวัดได้จัดให้มีงานเฉลิมฉลองพระบรมราชานุสรณ์ดอนเจดีย์ ทุกปี เลยจากเจดีย์ไปประมาณ 100 เมตร เป็นที่ตั้งของ พระตำหนักสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภายในมีรูปปั้นของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชและพระสุพรรณกัลยา มีผู้นิยมไปสักการบูชาอยู่เสมอ

การเดินทาง
               อยู่ที่ตำบลดอนเจดีย์ ห่างจากตัวเมืองประมาณ 31 กิโลเมตร ตามทางหลวงหมายเลข 322 (สุพรรณบุรี-ดอนเจดีย์)
ประวัติสมเด็จพระนเรศวรมหาราชเจดีย์ยุทธหัตถี
 สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงพระราช สมภพเมื่อเดือน 1 ขึ้น 1 ค่ำ ปีเถาะ พ.ศ. 2098 ณ พระราชวัง จันทรเกษม จังหวัดพิษณุโลก เป็นพระโอรสองค์ที่ 2 แห่งสมเด็จพระมหาธรรมราชา และสมเด็จพระวิสุทธิกษัตรี อันเป็นพระราชธิดาแห่งสมเด็จพระศรีสุริโยทัย และพระมหาจักรพรรดิ์ พระองค์ทรงมีพระเชษฐภคินีคือ สมเด็จพระศรีสุพรรณกัลยาณี และพระอนุชาสมเด็จพระเอกาทศรถ
ครั้งเมื่อกรุงศรีอยุธยาแตก หงสาวดีบุเรงนองได้นำสมเด็จพระนเรศวรไปยังหงสาวดีเพื่อเป็นตัวประกัน ขณะเมื่อทรงมีพระชันษาได้เพียง 8 พระชันษา ครั้นหงสาวดีบุเรงนองสิ้นพระชนม์ หงสาวดีนันทบุเรง ขึ้นครองราช ทรงมีพระโอรสองค์หนึ่ง ทรงพระนามว่า มังรายกะยอชะวา (ต่อมาได้สถาปนาเป็น พระมหาอุปราชา) ซึ่งมีนิสัยเย่อหยิ่ง ครั้งหนึ่งมังรายกะยอชะวาเอาไก่ชนมาชนกับไก่ของสมเด็จพระนเรศวรแล้วแพ้ จึงกล่าวกับพระนเรศวรว่า " อ้ายไก่เชลยที่พลัดบ้านเมืองมา ไม่ครนามือกู" พระนเรศวรจึงตรัสตอบว่า "แม้เป็นไก่เชลย แต่ไก่ตัวนี้อย่าว่าแต่ตีเพื่อความสนุกเลย เดิมพันเอาบ้านเอาเมืองก็ยังได้" สมเด็จพระนเรศวรทรงเจริญพระชันษาในราชสำนักหงสาวดี พร้อมกับฝีมือการต่อสู้ที่กร้าวแกร่ง ต่อมาพระศรีสุพรรณกัลยาณีได้เสียสละอย่างสูงสุด เดินทางไปถวายตัวกับพระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรง เพื่อแลกตัวสมเด็จพระนเรศวรกลับยังกรุงศรีอยุธยา
ครั้งหนึ่งพระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรงได้เรียกให้พระนเรศวรยกทัพไปร่วมทัพที่กรุงหงสาวดี เพื่อจะไปตีเมืองอังวะ แต่ได้ออกอุบายให้ พระยาเกียรติพระยาราม สองขุนศึกมอญลอบปลงพระชนม์ แต่พระยาเกียรติพระยารามได้นำความไปเล่าให้พระมหาเถรคันฉ่องซึ่งเป็นพระอาจารย์ฟัง พระมหาเถรจึงนำพระยาเกียรติพระยารามเข้าเฝ้ากราบทูลเรื่องราวแก่สมเด็จพระนเรศวร พระองค์ทรงมีปฐมบรมราชโองการประกาศอิสระภาพ ณ เมืองแครง ว่า "กูสมเด็จพระนเรศวร ขอประกาศความเป็นอิสระภาพ ไม่ขึ้นกับหงสาวดีอีกต่อไป" หงสาวดีนันทบุเรงทรงพิโรธ สั่งให้สุกรรมา นายทัพคู่ใจ ออกไปสกัดทัพไว้ที่แม่น้ำสะโตง สมเด็จพระนเรศวรทรงใช้พระแสงปืนยิงสุกรรมาเสียชีวิตบนหลังช้าง ทรงพระราชทานนามพระแสงปืนนั้นว่า "พระแสงปืนต้นข้ามแม่น้ำสะโตง" ในปี พ.ศ. 2133 พระมหาธรรมราชาเสด็จสวรรคต หงสาวดีนันทบุเรงถือเป็นโอกาส จึงสั่งให้พระมหาอุปราชาให้ยกทัพมาตีกรุงศรี แต่ก็ต้องพ่ายแพ้กลับไป จนปี พ.ศ. 2135 พระมหาอุปราชา และ มังจาชโร (พระเจ้าแปร) ได้ยกทัพเข้ามาตีกรุงศรีทางด่านเจดีย์สามองค์ ครั้นถึงบ้านพนมทวน เกิดลมพัดฉัตรเหนือพระเศียรหักลง ซึ่งในคืนวันเดียวกับที่สมเด็จพระนเรศวร ตั้งทัพอยู่ที่ทุ่ง ต.ม่วงหวาน แขวงวิเศษชัยชาญ ทรงสุบินว่า มีสายน้ำหลากมาจากทิศตะวันตก มีพระยากุมภีร์ตัวใหญ่ว่ายตามน้ำมาเข้าทำร้าย พระองค์ทรงใช้พระแสงดาบคู่มือฟันแทงจนถึงแก่ความตาย
สมเด็จพระนเรศวรสั่งเคลื่อนพล 100,000 นายขึ้นไปตั้งทัพที่ หนองสาหร่าย เมืองสุพรรณ ให้พระยาศรีไสยณรงค์เป็นทัพหน้า ตั้งทัพที่ดอนเผาข้าว เกิดปะทะกับทัพของพม่า และพ่ายถอยร่นมายังกองทัพของสมเด็จพระนเรศวร ทัพของสมเด็จพระนเรศวรเข้าช่ายจนเกิดฝุ่นตลบ ครั้นฝุ่นหายไป สมเด็จพระนเรศวรก็ตกอยู่ในวงรอมของกองทัพพม่า พระองค์จึงตรัสแก่พระมหาอุปราชาให้ร่วมทำการยุธหัตถี "ขอพระเจ้าพี่ได้ทำการยุทธหัตถี ด้วยการยุทธเยี่ยงนี้จักไม่บังเกิดขึ้นอีกต่อไป " พลายพัทธกอ(ช้างของพระมหาอุปราชา) ได้ล่างรุนแบกพลายไชยยานุภาพ(ช้างสมเด็จพระนเรศวร) พระมหาอุปราชาเงื้อพระแสงของ้าวฟันถูกปีกพระมาลาของสมเด็จพระนเรศวรขาดกระเด็น (ทรงพระราชทานนามว่า พระมาลาเบี่ยง ครั้นพลายไชยยานุภาพได้ทีรุนพลายพัทธกอเท้าหน้าลอยขึ้น สมเด็จพระนเรศวรทรงใช้พระแสงง้าวฟันกระดูกพระพาหาขาดลงไปถึงพระอุระ(อก)ผ่านพระอุทรออกทางพระปรัศว์ (สีข้าง) อีกข้างหนึ่งสิ้นพระชนม์ ส่วนพระเอกาทศรถทรงช้างพระยาปราบไตรจักร ก็มีชัยต่อมังจาชโร(พระเจ้าแปร) ช้างพระที่นั่งไชยยานุภาพ พระราชทานนามใหม่ว่า "เจ้าพระยาปราบหงสาวดี " รับสั่งให้สร้างสถูปขึ้นที่พระองค์ทรงทำยุทธหัตถี พระราชทานนามว่า "" ณ ตำบลท่าคอย(ปัจจุบัญเป็นตำบลดอนเจดีย์)
 เมื่อปี พ.ศ. 2147 สมเด็จพระนเรศวรทรงยกทัพไปต่อสู้กับพระเจ้าอังวะ ทรงตั้งค่ายที่เมืองหาง ทรงพระประชวรเป็นพระยอดพิษที่พระนลาฏ และเสด็จสวรรคตที่ เมืองหาง เมื่อวันจันทร์ เดือน 6 ขึ้น 8 ค่ำ ปีมะเส็ง พระชันษา 50 พรรษา รวมเวลาเสวยราชสมบัติเป็นเวลา 15 ปี พระบรมราชานุสรณ์ดอนเจดีย์ เป็นเจดีย์แบบลังกาทรงกลม สูง 66 เมตร ฐานกว้างด้านละ 36 เมตร ครอบเจดีย์องค์เดิม
ประวัติพระสุพรรณกัลยา พระอนุสาวรีย์ ของพระสุพรรณกัลยา
พระสุพรรณกัลยา ทรงเป็นพระธิดาใน สมเด็จพระมหาธรรมราชา และ พระวิสุทธิกษัตรีย์ เป็นพระพี่นางของ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช และสมเด็จพระเอกาทศรถ สมภพเมื่อวันเสาร์ ปีมะเส็ง พุทธศักราช ๒๐๙๕ ณ พระราชวังจันทน์ เมืองพิษณุโลก (บริเวณที่ตั้ง โรงเรียนพิษณุโลกพิทยาคม ในปัจจุบัน)พระองค์เป็นวีรสตรีผู้กล้าหาญ เด็ดเดี่ยว ทรงเสียสละความสุขส่วนพระองค์ ยอมพลัดพรากจากแผ่นดินไทย ไปเป็นองค์ประกัน ณ กรุงหงสาวดี เพื่อแลกกับ องค์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช และสมเด็จพระเอกาทศรถ ต่อมาได้ทรงสิ้นพระชนม์ชีพ ในแผ่นดินพม่า อย่างไร้พิธีอันสมพระยศ ความเสียสละอันใหญ่หลวง ของพระองค์ในครั้งนั้น เป็นผลทำให้ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงกลับมากอบกู้เอกราชของชาติไทยได้สำเร็จ วีรกรรมดังกล่าวของพระสุพรรณกัลยา จึงสมควรได้รับการเทิดพระเกียรติให้แพร่หลาย ยิ่งขึ้นสืบไปตลอดกาลนาน
...ตำนานพระสุพรรณกัลยา..
 หลังสงครามเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งแรก เมื่อปี พุทธศักราช ๒๑๑๒ พระนาง และพระอนุชา ทั้งสองพระองค์ ได้ถูกพระเจ้าบุเรงนอง กวาดต้อนไปเป็นเชลย ยังเมืองหงสาวดี พร้อมด้วยพระมหินทราธิราชเจ้าเหนือหัว แต่พระมหินทราธิราช เสด็จสวรรคตที่เมืองอังวะเสียก่อน พม่าจึงแต่งตั้งให้ พระมหาธรรมราชา ขึ้นครองกรุงศรีอยุธยา ในขณะที่โอรสและธิดายังเป็นเชลยอยู่ เพื่อเป็นองค์ประกัน ป้องกันการคิดทรยศของฝ่ายไทย
ทั้งสามพี่น้องอยู่ที่หงสาวดีถึง ๖ ปี จึงได้กลับมากรุงศรีอยุธยาครั้งหนึ่ง เมื่อพระนาง มีพระชนมายุได้ ๑๙ พรรษา ด้วยเหตุที่ พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนอง เกิดความพึงใจในพระสิริโฉม ของพระสุพรรณกัลยา จึงมาสู่ขอจากพระมหาธรรมราชา และนำกลับไปอภิเษก เป็นพระชายา ณ เมืองหงสาวดี ต่อมาพระนางได้ออกอุบาย ทูลขอให้พระอนุชาทั้งสองพระองค์ กลับสู่กรุงศรีอยุธยา โดยอ้างว่า เพื่อไปช่วยพระบิดารับศึก พระยาละแวกแห่งเขมร
พระสุพรรณกัลยา มีสภาพเหมือนถูกทอดทิ้ง ให้ผจญกรรมเพียงลำพัง กับไพร่พลเล็กน้อย ในท่ามกลางหมู่อริราชศัตรูทั้งสิ้น แต่กระนั้นพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนอง ก็ทรงมีพระเมตตา รักใคร่สิเนหา แก่พระสุพรรณกัลยาอยู่ไม่น้อย และด้วยบารมีแห่งพระสุพรรณกัลยา ได้ปกแผ่คุ้มครองแก่คนไทย ที่ตกเป็นเชลยอยู่ในเมืองพม่า มิให้ได้รับความลำบาก
ต่อมา มังไชยสิงหราช (นันทบุเรง) โอรสของพระเจ้าบุเรงนอง เป็นผู้มักมากในกามคุณ และต้องการเป็นใหญ่ จึงร่วมมือกับชายาชาวไทยใหญ่ นามว่า "สุวนันทา" วางแผนชิงราชสมบัติ และแย่งอำนาจ ทำให้พระเจ้าบุเรงนองตรอมพระทัย และสวรรคตอย่างกระทันหัน เมื่อพระเจ้านันทบุเรงขึ้นครองราชย์ เกิดความวุ่นวาย เนื่องด้วยการไม่ยอมรับ ของพระญาติวงศ์หลายฝ่าย ทำให้พระเจ้านันทบุเรง เกิดความหวาดระแวง กอปรด้วยรู้ว่า มีการรวบรวมไพร่พล เตรียมการกู้ชาติ ของ พระนเรศวร และพระเอกาทศรถ ทางเมืองไทย จึงสั่งจับจองจำพระมารดาเลี้ยง (พระสุพรรณกัลยา) และพระธิดาองค์แรกของพระนาง ให้อดอาหาร ลงโทษทัณฑ์ ทุบตี โบย อย่างทารุณ ในขณะที่พระนาง ทรงครรภ์แปดเดือน จนพระธิดาสิ้นพระชนม์ จากนั้น ก็ทำทารุณกรรมต่อพระนางอีก จนอ่อนเปลี้ยสิ้นเรี่ยวแรง แล้วใช้ดาบฟัน ฆ่าพระนางพร้อมด้วยทารกในครรภ์ แม้ร่างกายของพระนางสิ้นสูญแล้ว ก็ยังไม่เป็นที่สาแก่ใจ ของพระเจ้านันทบุเรง แม้ดวงพระวิญญาณของพระองค์ ก็ถูกกระทำพิธีทางไสยศาสตร์ ตราสังรัดตรึง ไม่ให้วิญญาณกลับสู่เมืองไทย ให้วนเวียนอยู่ อย่างทุกข์ทรมานนานนับร้อยปี ...
ในปีพุทธศักราช ๒๔๙๑ หลวงปู่โง่น โสรโย แห่งวัดพระพุทธบาทเขารวก อำเภอตะพานหิน จังหวัดพิจิตร ได้รับกิจนิมนต์จาก พระมหาปีตะโก ภิกขุ ให้ไปช่วยงานด้านประติมากรรม ซ่อมแซมรูปลายฝาผนัง ที่เมืองพะโค (หงสาวดี) ประเทศพม่า ในขณะนั้น ประเทศพม่ามีเหตุการณ์ทางการเมืองภายใน เกี่ยวกับสมณศักดิ์พระภิกษุ หลวงปู่โง่น พลอยต้องอธิกรณ์โทษการเมืองไปด้วย กลับเมืองไทยไม่ได้ ระหว่างถูกกักบริเวณ ท่านใช้เวลาในการฝึกจิต กำหนดตัวแฝง และพลังแฝงในกายได้ สามารถติดต่อกับโลกวิญญาณ และได้เข้าถึงกระแสพระวิญญาณที่สื่อสารต่อกัน กล่าวว่า ท่านเคยเป็นนายทหารช่าง สร้างบ้านเรือน ทั้งยังเคยถูกพม่ากวาดต้อนไป พร้อมกับพระนางในครั้งนั้น เคยเป็นข้ารับใช้ ในสมัยกรุงศรีอยุธยา และกรุงธนบุรี พระสุพรรณกัลยา ได้ขอร้องให้หลวงปู่โง่น ช่วยแก้พันธนาการทางไสยศาสตร์ เพื่อดวงพระวิญญาณของพระองค์ จะได้กลับไปเมืองไทย และให้นำภาพลักษณ์ของพระองค์ อันเกิดจากกระแสพระวิญญาณ เผยแพร่ให้แก่ชาวไทย ผู้ลืมพระองค์ท่านไปแล้ว พระองค์จะกลับมาทำคุณประโยชน์ ช่วยเหลือประเทศชาติ ทั้งยังปณิธาน จะกลับมาอุบัติเป็น เจ้าหญิงในปัจฉิมสมัย ของวงศ์กษัตริย์ไทย จะสร้างบารมี ประกอบคุณความดี เพื่อให้อยู่ในหัวใจ ของคนไทยทั้งประเทศ ด้วยเหตุเพราะคนไทย ลืมคุณกู้ชาติของพระองค์ ที่ยอมสละความสุขในชีวิต เพื่อให้สมเด็จพระนเรศวรมหาราช และสมเด็จพระเอกาทศรถ มีโอกาสกู้ชาติบ้านเมืองได้สำเร็จ
ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น หลวงปู่โง่น โสรโย และท่านพลโทถนอม วัชรพุทธ แม่ทัพกองทัพภาคที่ ๓ ได้ร่วมมือกันสร้าง พระอนุสาวรีย์ ของพระสุพรรณกัลยา มีขนาดเท่าองค์จริง และได้อัญเชิญ มาประดิษฐานไว้ ณ ริมฝั่งแม่น้ำน่าน ในบริเวณ "ค่ายสมเด็จพระนเรศวรมหาราช" ใกล้กับพระบรมราชานุสาวรีย์ พระอนุชาทั้งสองพระองค์ โดยได้นำส่วนของสรีระ เช่น กระดูก ฟัน และเครื่องประดับของมีค่าบางอย่าง ที่ขุดค้นได้จาก แหล่งฝังพระศพของพระนาง นำมาบรรจุในพระอุระของพระรูปด้วย เพื่อให้ชาวไทยทุกคน ได้มีโอกาสเคารพสักการะ วีรสตรีผู้เสียสละยิ่งใหญ่กว่าผู้ใด เพียงให้สยามไทย ได้คงอยู่ชั่วฟ้าดิน
 สถานที่สักการะบูชา :
ณ วัดลาดสิงห์ ตำบลบ้านสระ อำเภอสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี
พระตำหนักสมเด็จพระนเรศวรมหาราช วัดดอนเจดีย์ อำเภอดอนเจดีย์ จังหวัดสุพรรณบุรี



ภาพบรรยากาศพระบรมราชานุสรณ์ดอนเจดีย์













ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น