สถานที่ตั้งวัด
วัดนี้ตั้งอยู่บริเวณเดียวกับ "พระบรมราชานุสรณ์ดอนเจดีย์" ด้านทิศตะวันออก เลขที่ ๑๖๒๕ หมู่ที่ ๕ ตำบลดอนเจดีย์ อำเภอดอนเจดีย์
จังหวัดสุพรรณบุรี เริ่มสร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๕ พร้อมกับการบูรณะและสร้างพระบรมราชานุสรณ์ดอนเจดีย์ โดยรัฐบาลสมัย จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี เป็นผู้สร้างเพื่อเฉลิมพระเกียรติ และเพื่ออุทิศถวายเป็นราชพลีแด่สมเด็จพระนเรศวรมหาราช โดยเวนคืนที่ดินและสงวนไว้ให้เป็นที่ตั้งวัด สร้างวัดบนเนื้อที่ประมาณ ๘๐ ไร่ ซึ่งแต่เดิมราชการดำริจะย้ายวัดหนองสระ (ปัจจุบันคือ วัดสระศรีเจริญ) มาตั้งเป็นวัดดอนเจดีย์ แต่เนื่องจากที่ตั้งวัดดอนเจดีย์ อยู่ห่างไกลหมู่บ้าน มีบ้านใกล้เคียงเพียง ๒-๓ หลังเท่านั้น ความดำรินี้จึงล้มเลิกไป
วัดดอนเจดีย์ เดิมขึ้นกับอำเภอศรีประจันต์ ต่อมาแยกเป็นกิ่งอำเภอดอนเจดีย์ได้ตั้งเป็นที่ว่าการอำเภอเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๘ ทางราชการได้อนุมัติงบประมาณตั้งแต่แรกดำเนินการสร้าง
ประวัติหลวงพ่อเก็บ
นามเดิม ชื่อ เก็บ นามสกุล พุฒิเจริญ เกิดเมื่อวันที่ ๑๕ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๕๗ บิดาชื่อ นายรัด มารดาชื่อ นางโค้ เกิดณ บ้านสองพี่น้อง ตำบลสองพี่น้อง อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี มีศักดิ์เป็นหลานอา ของสมเด็จป๋า และ "หลานลุง"ของหลวงพ่อสด วัดปากน้ำ อุปสมบทเมื่อ วันที่๒๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๗ ณ พัทธสีมาวัดสองพี่น้อง อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี โดยมี พระครูอุภัยภาดารักษ์ เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์หอม วัดสองพี่น้อง เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระอาจารย์ล้วน เจ้าอาวาสวัดละครทำ เป็นพระอนุสาวนาจารย์ เมื่ออุปสมบทแล้ว ได้ศึกษาอยู่ในสำนักของ พระอุปัชฌาย์วัดสองพี่น้อง ๑ พรรษา แล้วย้ายเข้าไปศึกษาบาลี ที่วัดพระเชตุพนกับสมเด็จป๋า สมัยที่ยังเป็นพระมหาปุ่น พอได้เป็นเปรียญธรรม ๕ ประโยค สมเด็จป๋าก็ส่งให้กลับมาเปิดสำนักเรียนบาลีที่วัดสองพี่น้อง เมื่อพ.ศ. ๒๔๘๓ วัดสองพี่น้องจึงเป็นสำนักเรียนที่มีชื่อเสียงของจังหวัดสุพรรณบุรีสำนัก หนึ่งตั้งแต่นั้นมา และตัวท่านเองก็สอบได้เป็นเปรียญธรรม ๗ ประโยค เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๒ ถือเป็นพระมหารูปแรกที่สอบได้ ป.ธ. ๗ ในนามคณะสงฆ์จังหวัดสุพรรณฯ ในเวลาต่อมา และศิษย์สองพี่น้องของท่านตั้งแต่รุ่นแรกถึงรุ่น ต่อ ๆ มาได้อยู่สนองงาน ของคณะสงฆ์ปัจจุบัน อาทิ ๑. พระธรรมมหาวีรานุวัตร (ฉลอง จินตาอินโท ป.ธ.๕) เจ้าอาวาสวัดป่าเลไลยก์วรวิหาร ที่ปรึกษาเจ้าคณะจังหวัดสุพรรณบุรี ๒. พระราชปริยัติสุธี (สอิ้ง สิรินนฺโท ป.ธ.๘) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดป่าเลไลยก์วรวิหาร เจ้าคณะจังหวัดสุพรรณบุรี ๓.พระวิสุทธิวงศาจารย์ (วิเชียร อโนมคุโณ ป.ธ.๙) (รองสมเด็จพระราชาคณะ) รองเจ้าอาวาสวัดปากน้ำ หัวหน้าสำนักฝึกอบรมพระธรรมทูต และเจ้าคณะภาค ๗ ๔. พระธรรมปัญญาภรณ์ (สุชาติ ธมฺมรตโน ป.ธ.๙) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดปากน้ำ เลขานุการแม่กองบาลีสนามหลวง เจ้าคณะภาค และ ศิษย์สายสองพี่น้อง ดอนเจดีย์ ที่สำเร็จเป็นเปรียญธรรม ๙ ประโยค ยังดำรงสมณเพศอยู่อีกหลายรูป รั้นถึง พ.ศ.๒๕๐๑ สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ ๑๗ (สมเด็จป๋า) วัดพระเชตุพน ฯ กรุงเทพ ฯ สมัยดำรงสมณศักดิ์ที่ "พระธรรมวโรดม"เจ้าคณะตรวจการคณะสงฆ์ภาค ๗ เห็นว่าวัดดอนเจดีย์ เป็นวัดที่สร้างขึ้นเพื่ออุทิศถวาย "สมเด็จพระนเรศวรมหาราช" พระผู้มีพระคุณยิ่งใหญ่แก่แผ่นดิน ควรมีพระผู้ใหญ่ไปอยู่ประจำ จึงสั่งให้ "พระวิบูลเมธาจารย์" (หลวงพ่อเก็บ) วัดสองพี่น้อง เจ้าคณะอำเภอสองพี่น้อง รักษาการเจ้าคณะจังหวัดสุพรรณบุรี ไปอยู่ประจำตั้งแต่เดือน มกราคม พ.ศ. ๒๕๐๑ จนกระทั้ง มรณภาพ เมื่อวันที่ ๒๙ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๒๕ สิริอายุได้ ๖๙ ปี ๔๙ พรรษา" พระวิบูลเมธาจารย์" (หลวงพ่อเก็บ) เจ้าอาวาสวัดดอนเจดีย์ อ.ดอนเจดีย์ จ.สุพรรณบุรี สร้างวัตถุมงคล เมื่อครั้งที่ท่านได้มาดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดดอนเจดีย์ โดยมีการจัดสร้างเหรียญรูปเหมือน เป็นรุ่นสุดท้าย ในปี พ.ศ.2516
ในปี พ.ศ.2516 สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จฯ ทรงเป็นประธานตัดลูกหวายนิมิตวัดดอนเจดีย์ พระวิบูลเมธาจารย์ ท่านจึงได้จัดสร้างวัตถุมงคล เพื่อแจกญาติโยมที่มาร่วมงานทุกคน คือ เหรียญรูปเหมือนของท่าน เป็นเนื้อทองแดง เนื้อกะไหล่เงิน เนื้อกะไหล่ทอง และเนื้อเหรียญ 5 บาทโบราณ ซึ่งหายากมาก ด้วยเป็นการนำเหรียญ 5 บาทที่ใช้จริงสมัยนั้นมาปั๊มหลายๆ ครั้งจนบาง สังเกตด้านข้างจะเป็นสีทองและนาคของเหรียญ 5 บาท ลักษณะเหมือนกับรุ่นปกติ แต่บางกว่า และมีการเชื่อมต่อห่วงด้านบนอย่างชัดเจน
ด้านหน้าเหรียญ เป็นรูปเหมือนพระวิบูลเมธาจารย์ (หลวงพ่อเก็บ วัดดอนเจดีย์) มีข้อความว่า "พระวิบูลเมธาจารย์ วัดดอนเจดีย์ สุพรรณบุรี" มีจุดสังเกตดีๆ จะมีการปั๊มคำว่า "เก็บ" ไว้ที่ไหล่รูปเหมือนด้านซ้ายล่างของหลวงพ่อเก็บ แต่เป็นด้านขวาของเหรียญทุกเหรียญ ด้านหลังเหรียญ เป็นรูปพระนเรศวรทรงช้างและองค์อนุสรณ์ดอนเจดีย์ ด้านบนเหรียญเป็นภาษาขอมเขียนว่า "นะ"
เหรียญหลวงพ่อเก็บ วัดดอนเจดีย์รุ่นนี้ประกอบพิธีพุทธาภิเษกโดยพระเกจิอาจารย์ผู้มีชื่อเสียงในยุค นั้น โดยมีสมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ 17 เป็นประธานจุดเทียนชัย พระเกจิอาจารย์ที่ร่วมพิธีครั้งนั้น อาทิ หลวงพ่อเก็บ วัดดอนเจดีย์, หลวงพ่อปุย วัดเกาะ, หลวงพ่อมุ่ย วัดดอนไร่, หลวงพ่อถิร วัดป่าเลไลยก์, หลวงพ่อเจริญ วัดธัญญวารี, หลวงพ่อสม วัดดอนบุบผาราม, หลวงพ่อเปลื้อง วัดสุวรรณภูมิ, หลวงพ่อแช่ม วัดราษฎรบำรุง, หลวงพ่อสอิ้ง หรือพระเทพสุวรรณโมลี เจ้าคณะจังหวัดสุพรรณบุรีรูปปัจจุบัน
ภายหลังจากการสร้างวัตถุมงคลรุ่นนี้แล้ว หลวงพ่อเก็บไม่ได้มีการจัดสร้างวัตถุมงคลใดๆ ทั้งสิ้น จนกระทั่งพระวิบูลเมธาจารย์ (หลวงพ่อเก็บ) มรณภาพลง เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2525 สิริอายุ 69 ปี พรรษา 49 วัตถุมงคลของหลวงพ่อเก็บมีอยู่ไม่กี่รุ่น แต่เหรียญหลวงพ่อเก็บ รุ่นปี 2516 เป็นรุ่นสุดท้ายที่ ได้รับความนิยมจนถึงปัจจุบัน เหรียญรุ่นนี้มีความโดดเด่นด้านเมตตามหานิยม แคล้วคลาด โดยเฉพาะพ่อค้า-แม่ค้า ที่ครอบครองจะทำมาค้าขายดี
บรรยากาศวัดดอนเจดีย์
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น