วันพุธที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2553

หลวงปู่เนียม


 หลวงปู่เนียม
วัดน้อยอำเภอบางปลาม้า
    
        มื่อเอ่ยถึงหลวงปู่เนียม ผู้คนทั้งหลายจะต้องเรียกชื่อท่านควบกับชื่อวัดไปด้วยหรือเมื่อเอ่ยชื่อวัดน้อยนี้ก็ต้องควบชื่อท่านเข้าไปด้วยเช่นกัน เพราะในสุพรรณบุรีมีวัดที่ชื่อวัดน้อยหลายแห่งด้วยกันแต่วัดอื่นๆ ก็ไม่ติดปากผู้คนเหมือนวัดน้อย หลวงปู่เนียม วัดน้อย เป็นวัดเก่าอายุกว่าร้อยปีมีเนื้อที่ประมาณ ๓๐ ไร่สร้างโดยผู้ใดไม่ปรากฏ อยู่ในท้องที่ตำบลโตกครามอำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี วัดน้อยตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำท่าจีนซึ่งเป็นเส้นทางคมนาคม เส้นเดียวของเมืองสุพรรณบุรี สู่เมืองบางกอก

          สมัยเมื่อ ๕๐ ปีที่แล้ว ก่อนจะมีถนนมาลัยแมนตัดจากนครปฐมมายังตัวเมืองสุพรรณวัดน้อยอยู่ระหว่างอำเภอบางปลาม้ากับตัวจังหวัด คิดระยะทางทางน้ำ ก็จะอยู่ห่างตัวเมืองสุพรรณราวเจ็ดแปดกิโลเมตร

           สมัยเมื่อราวๆร้อยปีที่ผ่านมา วัดน้อยมีความเจริญสูงสุด เพราะครองวัดโดยพระมหาเกจิ-เถราจารย์นามกระเดื่องผู้เชี่ยวชาญทางคันถธุระ วิปัสสนาธุระและวิทยาคมชื่อหลวงปู่เนียม

          ในสมัยที่หลวงปู่ครองวัดอยู่วัดน้อยของหลวง ปู่ มีพระเณรมากกว่าวัดอื่นๆ ในละแวกใกล้เคียง และค่อนข้างจะคลาคล่ำไปด้วยผู้ศรัทธาที่มาให้ท่านช่วยรักษาความเจ็บไข้ได้ป่วยด้วยยาสมุนไพร น้ำมนต์และอาคม ที่ชะงัดมากเห็นผลทันตาก็เรื่องหมาบ้าและงูพิษกัดเพียงเสกเป่าพรวดออกไปแล้วบอกว่า เอ้า ! เอ็งไปได้แล้ว ก็ไม่เห็นมีใครตายสักรายน้ำมนต์ของท่านเล่าลือว่าศักดิ์สิทธิ์นัก

         ถาวรวัตถุที่เชื่อกันว่าสร้างมาในสมัยหลวงปู่ที่ยังพอมีให้เห็นก็คือมณฑปประดิษฐานรอยพระพุทธบาท วิหารประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นองค์ใหญ่ ศาลาข้างสระน้ำซึ่งสิ่งก่อสร้างทั้งสามนี้มีสภาพเป็นซากที่ถูกทอดทิ้งใช้การไม่ได้แล้ว ถนนมาลัยแมนที่สร้างขึ้นมาเมื่อราว ๕๐ ปีก่อน ทำให้สุพรรณบุรีเป็นเมืองเปิดขึ้นมาโดยทันที แม่น้ำท่าจีนที่เคยเป็นเส้นทางคมนาคมเดียวสู่บางกอกเริ่มลดความสำคัญการเดินทาง และการส่งสินค้าเข้าออกเมืองสุพรรณทางเรือก็ค่อยเปลี่ยนเป็นทางรถยนต์และรถไฟ หน้าวัดที่คลาคล่ำด้วยหรือแพ เริ่มน้อยลงๆ จนไม่มีเลยในปัจจุบัน ผู้คนจะไปไหนๆไม่จำเป็นต้องผ่านวัดน้อยอีกแล้วผู้คนที่มาทำบุญที่วัดน้อยลง คนรุ่นหนุ่มสาวที่พอมีกำลังทำบุญแทบไม่เหลือติดหมู่บ้านวัดในตำบลโตกครามก็มีมากเสียจนผู้คนในตำบลนี้ ไม่สามารถที่จะอุปถัมภ์ได้ทุกวัดความเสื่อมโทรมของวัดน้อยค่อยๆ เริ่มขึ้นพร้อม ๆ กับความเจริญของจังหวัดสุพรรณบุรี

         ในวัดน้อยเองขณะนี้ก็มีพระเณรอยู่ในวัดเพียงไม่ถึงสิบรูปแค่เพียงดูแลถาวรวัตถุ เช่น กุฏิ วิหาร มณฑป หอฉัน ศาลา ที่หลวงปู่สร้างไว้ไม่ให้ผุพังไปตามกาลเวลาก็ดูจะเป็นเรื่องยากเสียแล้ว รายได้เข้าวัดน้อยมากสมชื่อวัดน้อยเสียจนทำอะไรไม่ค่อยได้ บางวันพระเณรต้องหุงหาอาหารไว้ฉันกันเอง ผู้คนที่จะมาที่วัดน้อยในปัจจุบันนี้ร้อยทั้งร้อยจะแวะมาเพียงเพื่อมากราบรูปหล่อของหลวงปู่เนียมในมณฑปเท่านั้น

          ประวัติของหลวงพ่อเนียม
          ขุนดอนเขียนประวัติของหลวงพ่อเนียม ในนิตยสารพระเครื่องชื่อ พุทโธ ฉบับเดือนพฤษภาคม-เดือนกรกฎาคม ๒๕๓๑ และคุณทนงทิพย์ ม่วงทอง เขียนในฉบับเดือนกรกฎาคม ๒๕๓๕มีเนื้อความใกล้เคียงกันว่า

          หลวงพ่อเนียม เกิดเมื่อปี พ.ศ.๒๓๗๒ ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ท่านเป็นคนบางปลาม้าจังหวัดสุพรรณบุรีโดยกำเนิด มารดาของท่านเป็นคนบ้านป่าพฤกษ์ ตำบลตะค่าอำเภอบางปลาม้า ส่วนบิดาเป็นคนบ้านส้อง ตำบลมดแดง อำเภอศรีประจันต์ แต่ได้ย้ายมาลงหลักปักฐานอยู่ที่บ้านฝ่ายหญิงตามประเพณีหลวงปู่มีพี่สาวชื่อจาด ท่านเป็นคนที่สอง มีน้องชายหนึ่งคนชื่อเสียงใดไม่ปรากฏ

         การศึกษาของท่านก็คงเหมือนลูกชาวบ้านทั่วไปคือเรียนอักขรวิธีและภาษาบาลีจากพระในวัดใกล้บ้าน เมื่อครบบวช (พ.ศ.๒๓๙๒-๒๓๙๓)ก็บวชตามประเพณี คาดว่าคงเป็นวัดป่าพฤกษ์หรือไม่ก็วัดตะค่า เล่ากันว่าเมื่อท่านอยู่ในสมณเพศแล้วท่านก็เข้ามาอยู่ในกรุงเทพฯเพื่อศึกษาพระธรรมวินัย มูลกัจจายนสูตร วิปัสสนา และเวทย์มนต์คาถาจากพระเถรานุเถระสำนักต่างๆซึ่งไม่ทราบแน่ชัดว่าท่านมาพำนักอยู่วัดใดและเป็นศิษย์สำนักใดแน่ บ้างก็ว่าท่านมาอยู่ที่วัดพระพิเรนทร์บ้างก็ว่าวัดโพธิ์ วัดทองธรรมชาติ และวัดระฆังโฆสิตาราม

          ในสมัยนั้นเมื่อกล่าวถึงพระคณาจารย์ที่เชี่ยวชาญในเรื่องของวิปัสสนาธุระแล้ว ต้องยกให้ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) หลวงปู่ช่วง วัดรังสี(ขณะนี้รวมเป็นวัดเดียวกับวัดบวรฯ) หลวงปู่คำ วัดอัมรินทร์ หลวงปู่จันทร์ วัดพลับ

          ขุนดอนเขียนว่า ถ้าหลวงปู่มาอยู่วัดระฆังฯก็ต้องเป็นศิษย์ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) แน่ เพราะสมเด็จท่านมีพระชนม์ชีพอยู่จนถึงพ.ศ. ๒๔๑๕ สำหรับคุณทนงทิพย์ เขียนว่า คุณทองหยด จิตตวีระ อดีต ส.ส. สุพรรณบุรีเคยเล่าให้คุณบดินทร์ สุประสงค์ อดีตผู้พิพากษาศาลสุพรรณบุรีฟังว่า บิดาของท่านเคยเป็นลูกศิษย์ของหลวงปู่ตอนมาอยู่ที่วัดน้อยแล้ว หลวงปู่เคยส่งคุณพ่อของท่านและศิษย์คนอื่นๆ อีกหลายคน ให้ไปศึกษาเล่าเรียนที่วัดระฆังฯเรื่องนี้น่าจะเป็นข้อสันนิษฐานได้ว่าหลวงปู่เนียมต้องเคยเป็นศิษย์วัด ระฆังฯ ด้วย

          เล่ากันว่าหลวงพ่อเนียมพำนักเล่าเรียนอยู่ ที่เมืองบางกอกถึง ๒๐ พรรษา เมื่อร่ำเรียนจนจบกระบวนการแล้ว ท่านก็กลับมาอยู่ที่วัดที่ท่านบวชชั่วระยะหนึ่งแล้วก็ย้ายไปอยู่ที่วัดรอเจริญ อำเภอบางปลาม้า (อยู่เยื้องลงมาทางใต้ของวัดน้อยไม่กี่ร้อยเมตร)ท่านอยู่ที่วัดรอเจริญได้ไม่นาน ชาวบ้านวัดน้อยเห็นแววของท่านก็มานิมนต์ท่านให้มาเป็นเจ้าอาวาสวัดน้อยที่ทรุดโทรมและกำลังจะร้าง เพราะขาดสมภารเจ้าวัด เมื่อท่านมาอยู่วัดน้อยตามศรัทธาของชาวบ้านแล้วก็ร่วมมือกับชาวบ้านสร้างหอฉัน และบูรณะโบสถ์ วิหาร จนดี มีสภาพเป็นวัดขึ้นมาอีกครั้ง วัดน้อยเจริญรุ่งเรืองขึ้นเป็นลำดับมีพระเณรมากขึ้นทุกปีเล่ากันว่าทุกก่อนเข้าพรรษาชาวบ้านทั้งในละแวกนิ่งและ ละแวกใกล้เคียงจะนำบุตรหลานมาให้ท่านบวชให้มากมายและที่จำพรรษาที่วัดน้อยก็มีเกือบสิบรูปทุกปี
              
          ศิษย์เอกของหลวงปู่เนียม
          คุณมนัส โอภากุล (พ่อของคุณแอ๊ดคาราบาว) คนสุพรรณผู้เชี่ยวชาญและโด่งดังจากการรวบรวมค้นคว้าและเขียนเรื่องพระเกจิอาจารย์และพระเครื่องเมืองสุพรรณบุรีจนเป็นที่รู้จักกันดีในวงการพระเครื่อง ได้เขียนว่า สุพรรณบุรีมีพระเกจิอาจารย์ดังมากที่สุดจังหวัดหนึ่งของประเทศ และพระเกจิอาจารย์ที่เชี่ยวชาญทั้งคันถธุระและวิปัสสนาธุระผู้ทรงวิทยาคมที่ถือว่าเป็นที่สุดยอดของพระมหาเกจิ-เถราจารย์ของเมืองสุพรรณ ก็คือหลวงปู่เนียม

         คุณมนัสกล่าวว่า ลูกศิษย์ของหลวงปู่เนียมที่ดังๆทั้งระดับท้องถิ่นและระดับประเทศก็มีหลายรูปด้วยกัน ที่ท่านค้นคว้ามาได้มีหลวงพ่ออ่ำแห่งวัดชีปะขาว อ.บางปลาม้า หลวงพ่อรูปนี้หลวงพ่อเนียมเป็นผู้บวชให้และมีศักดิ์เป็นหลานของท่านด้วยที่ดังระดับประเทศก็คือ หลวงพ่อโหน่ง วัดคลองมะดัน อ.สองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรีผู้เป็นพระอาจารย์ของหลวงพ่อสด วัดปากน้ำภาษีเจริญ และอีกรูปก็คือ หลวงพ่อปานวัดบางนมโค อ.เสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ผู้เป็นพระอาจารย์ของหลวงพ่อฤๅษีลิงดำ(พระราชพรหมยาน) แห่งวัดท่าซุง จังหวัดอุทัยธานี
          ไตรภาคี ตรีเพชรเซียนพระเครื่อง ท่านหนึ่งได้เขียนเรื่องของหลวงปู่เนียมและหลวงพ่อโหน่งไว้ในนิตยสารพระเครื่องชื่อ พุทโธ ฉบับที่ ๖ เดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๓๑ ว่าหลวงปู่เนียมเป็นพระนักปฏิบัติธรรมเชี่ยวชาญทางวิปัสสนากรรมฐาน และมีวิทยาคมแก่กล้าที่หลวงพ่อปานมาฝากตัวขอเป็นศิษย์ และได้รับการถ่ายทอดทั้งวิชาทางด้านวิปัสสนากรรมฐานและวิทยาคมไปจนหมดสิ้นครั้นเมื่อเรียนจบแล้วก่อนจะลากลับสู่สำนักเดิม หลวงปู่เนียมยังได้ส่งเสียว่าในวันข้างหน้าถ้าติดขัดสงสัยในเรื่องคำสอนของท่าน ขอให้ไปสอบถามหลวงพ่อโหน่ง ศิษย์รุ่นพี่(ห่างกันหลายปีและไม่ทันเห็นกันในขณะนั้น)โดยบอกว่า ถ้าข้าตายไปแล้ว หากสงสัยอะไร ให้ไปถามท่านโหน่ง วัดคลองมะดันเขาพอแทนข้าได้
          ใหญ่ ท่าไม้ เซียนพระ เจ้าของนิตยสารพระเครื่องดังของเมืองไทยอีกท่านหนึ่งได้เขียนถึงความเป็นพระอริยสงฆ์ของหลวงปู่เนียมและหลวงพ่อโหน่งศิษย์อาวุโส ของท่านในนิตยสารพระเครื่องชื่อ มหาโพธิ์ ฉบับพิเศษ ที่ ๑๓ ว่าหลวงปู่เนียมและหลวงพ่อโหน่งเป็นพระผู้มีอภิญญาสูงรู้เวลาตายของตนเอง เพราะทั้งสองท่านมรณภาพในท่านอนพนมมือ

          ปาฏิหาริย์และวัตถุมงคลของหลวงปู่เนียม
          มีเรื่องเล่าสืบทอดกันมาถึงปาฏิหาริย์ของหลวงปู่เนียมมากมาย ประวัติและปาฏิหาริย์ของท่านได้ถูกเขียนลงในนิตยสารพระเครื่องดังๆ หลายฉบับพระเครื่องที่ท่านทำขึ้นมาเพื่อแจกสานุศิษย์มีหลายพิมพ์ด้วยกัน ได้แก่พิมพ์พระประธาน พิมพ์พระคง พิมพ์ปรุหนัง พิมพ์พุทธลีลา พิมพ์ขุนแผน และที่ดังมากก็คือพิมพ์งบน้ำอ้อยพิมพ์มารวิชัยเศียรโล้น และพิมพ์เศียรแหลมพระของหลวงปู่ทุกพิมพ์เป็นเนื้อชินตะกั่ว มีรูปทรงไม่สวยนัก แต่มีพุทธคุณสูงยิ่งโดยเฉพาะเรื่องคงกระพัน ขณะนี้ส่วนใหญ่ยังอยู่ในมือของคนรุ่นลูก หลานเหลนของสานุศิษย์แท้ ๆ ของท่าน ในพื้นที่บางปลาม้า ซึ่งเห็นห้อยคอเดี่ยวๆ และไม่ค่อยจะมีใครยอมปล่อยให้หลุดจากคอพระของหลวงปู่จึงไม่ค่อยมีให้เห็นในตลาดพระ ส่วนที่เล็ดลอดออกมาบ้างก็มีสนนราคาเป็นเรือนหมื่นทุกพิมพ์
         นอกจากพระเครื่องแล้ว ที่กล่าวตรงกันว่าศักดิ์สิทธิ์นักคือน้ำมนต์ของท่านและการรักษาพิษงูและหมาบ้า

         รักษาพิษงูและพิษหมาบ้า
         สมัยก่อนไม่ว่าท้องไร่ท้องนาถิ่นไหนจะมีงูชุกชุมมากแต่ละปีจะมีผู้ถูกงูพิษกัดตายหลายราย เพราะไม่มีเซรุ่มจะฉีด เช่นเดียวกับคนโดนหมาบ้ากัดจะต้องตายทุกรายไปคุณสมบัติ พัดขุนทด (มาลา) บุตรสาวของสมุห์เหลือ มาลาอดีตสรรพากรจังหวัดสุพรรณบุรีพี่สาวของคุณวิภาวัลย์ ต้นสายเพ็ชร (มาลา) ผู้ที่พาผู้เขียนไปรู้จักวัดน้อยเล่าว่าคุณยายของท่านเล่าให้ฟังว่าเมื่อครั้งเป็นเด็ก ได้ถูกหมาบ้ากัดแถวๆ บ้านหลังวัดกลางพ่อแม่ต้องพานั่งเรือพาย พายไปตามลำน้ำท่าจีน ผ่านวัดสวนหงษ์ วัดรอเจริญ และวัดอะไรต่อมิอะไรอีกหลายวัดไปให้หลวงปู่เนียมรักษาให้
          เมื่อไปถึงท่าน ท่านก็ทักว่าเอ็งโดนบักดำมันกัดเอาใช่ไหม มันเพิ่งวิ่งผ่านหน้ากูไปเมื่อกี้นี้เองแล้วท่านก็เป่าพรวดๆ ให้ แล้วว่า เอ็งไม่ตายแล้ว อายุยืนซะด้วยนะเอ็ง(หมาไม่ได้วิ่งไปทางวัดน้อยดอก วัดของท่านอยู่ห่างที่เกิดเหตุไปหลายกิโลเมตรท่านคงเห็นโดยญาณ) แล้วคุณยายก็อยู่มาจนถึงอายุ ๙๓ ปี


          น้ำมนต์ศักดิ์สิทธิ์
          เล่ากันว่าครั้งหนึ่งมีคนจีนคนหนึ่งตั้งบ้านเรือนอยู่แถววัดโพธิ์คอย ซึ่งอยู่ไม่ใกล้ไม่ ไกลวัดน้อยนัก ได้พายเรือมาหาท่านด้วยความร้อนรนเนื่องด้วยลูกสาวของแกป่วยหนัก รักษาทางยามาก็มากแล้วอาการก็ไม่ทุเลาซ้ำทำท่าจะแย่ลงทุกที (บางคนเล่าว่าลูกสาวเจ็บท้องจะคลอดลูกแต่ลูกไม่ออก เจ็บปวดทุรนทุราย) มาถึงวัดก็เห็นหลวงปู่เนียม อยู่บนหลังคาศาลาท่าน้ำกำลังช่วยพระเณรมุงหลังคากันอยู่ ด้วยความรีบร้อนก็ตะโกนเรียกหลวงปู่ให้ลงมาช่วยทำน้ำมนต์ให้หน่อยแต่ท่านก็คงให้รอก่อนหรืออย่างไรไม่แจ้ง เถ้าแก่คงร้อนใจและเซ้าซี้ท่านจนน่ารำคาญ และอาจจะเป็นด้วยท่านต้องการจะแสคงอภินิหารหรือรำคาญเถ้าแก่คนนั้นไม่มีใครเดาได้ ท่านจึงตะโกนจากหลังคาศาลาท่าน้ำว่า เอ็งตักน้ำที่ตีนท่านั่นแหละไปกูเสกไว้แล้ว แล้วท่านก็มุงหลังคาต่อ เถ้าแก่คนนั้นไม่รู้จะทำท่าไหน คงโมโหไม่เบานั่งมุงหลังคาอยู่เห็นชัดๆ เสกแสกอะไรกัน แต่ก็สิ้นท่าแล้วชีวิตลูกสาวแขวนอยู่บนเส้นด้าย จะพาไปโรงพยาบาลหลวงก็อยู่บางกอกโน่นแจวเรือไปสามวันสองคืนก็ยังไม่ถึง เมื่อร้อยปีก่อนโน้นเรือเมล์แดงก็ยังไม่มี ถึงมีก็เถอะก็ต้องวิ่งกันถึงค่อนวันกว่าจะถึงหมดท่าแล้วหลวงปู่ให้ตักเอาน้ำที่หัวบันไดท่าน้ำไป ก็ต้องเอา ใจน่ะ ไม่ค่อยจะเชื่อเอาเสียเลยแต่ก็ไม่รู้จะทำท่าไหนเล่าว่าเถ้าแก่คนนั้นจ้วงตักเอาน้ำนั้นไปด้วยความโมโหและไม่เลี่อมใสว่าน้ำ ในแม่น้ำจะเป็นน้ำมนต์ได้อย่างไรครั้นจะไม่เอาก็เกรงใจ เกรงว่าวันหน้าจะเข้าหน้ากันไม่ได้

          พอพายเรือกลับ เลยหน้าวัดพ้นสายตาหลวงปู่ ก็หยิบเอาขวดหรือไหที่ใส่มา เททิ้งด้วยความโมโหและก็เกิดปาฏิหาริย์ขึ้น คือน้ำนั้นเทไม่ออก และตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมาคนสุพรรณต่างก็รู้กันว่า น้ำในแม่น้ำหน้าวัดหลวงปู่เนียมศักดิ์สิทธิ์เท่ากับน้ำมนต์ที่ท่านทำขึ้นมาเพียงอธิษฐานจิตคิดถึงหลวงปู่ก็เอาไปใช้ได้เช่นกัน

          ขุนดอน เขียนต่ออีกว่า พระยาศิริชัยบุรินทร์ปลัดเทศาภิบาลมณฑลนครไชยศรี เมื่อครั้งมาตรวจราชการเมืองสุพรรณบุรีก็มาแวะกราบขอพรจากหลวงปู่ และขอให้ท่านอาบน้ำมนต์ให้ หลวงปู่ท่านก็สั่งให้ไปอาบน้ำที่ท่าน้ำหน้าวัดรวมกับชาวบ้านแม้ว่าท่านพระยาจะตะขิดตะขวงใจในเรื่องน้ำหน้าวัด ทั้งมีความเหนียมอายชาวบ้านและบริวารแต่ก็ยอมทำตามและปรากฏว่าอีกไม่นาน ท่านเจ้าคุณพระยาก็ได้เลื่อนตำแหน่งเป็นเทศาเมืองนครสวรรค์

          แม้หลายสิบปีหลังจากที่ท่านมรณภาพไปแล้วพวกชาวเรือชาวแพที่ล่องผ่านหน้าวัด ก็ยังเชื่อว่าน้ำหน้าวัดใช้แทนน้ำมนต์ได้คุณสำราญ แก้ววิชิต (อายุ ๖๘ ปี) ลูกหลานวัดน้อยและขณะนี้ก็เป็นกรรมการวัดได้เล่าว่า ตอนที่แกเป็นเด็กมักจะมาเล่นกับเพื่อน ๆ ที่ศาลาท่านาหลังที่หลวงปู่สร้างไว้เป็นประจำสมัยนั้นเรอแพยังล่องขึ้นลงไปมาเสมอ และมีเรือเมล์แดงวิ่งรับส่งคนโดยสารระหว่างสุพรรณกับบางกอกแล้วเมื่อเรือแจวหรือเรือโยงมาถึงหน้าวัดพวกชาวเรือเหล่านั้น (ส่วนมากเป็นคนจีน)ก็จะเริ่มจุดธูปอาราธนาขอพร เอาธูปนั้นปักไว้ที่หัวเรือ เสร็จแล้วก็คว้ากระป๋องตักน้ำหน้าวัด สาดขึ้นหลังคาเรือ ส่วนพวกเรือเมล์ ก็จะลดความเร็วลง แล้วผู้โดยสารทั้งหนุ่มสาวเฒ่าชราจะเอื้อมมือลงไปวักเอาน้ำหน้าวัดขึ้นลูบหัวลูบหน้าแทนน้ำมนต์เพื่อความเป็นสิริมงคล

           แม้ขณะนี้ก็ยังเห็นคนเฒ่าคนแก่มาตักเอาน้ำมนต์ในตุ่มหน้าองค์ท่านไปใช้ ซึ่งก็เชื่อกันว่าศักดิ์สิทธิ์เหมือนเมื่อท่านยังมีชีวิตอยู่

            ญาณวิเศษรู้เหตุการณ์ล่วงหน้า
         ไตรภาคี กล่าวถึงหลวงปู่เนียมว่าหลวงปู่เนียม สำเร็จวาโยกสิณขั้นอภิญญา สามารถล่วงรู้อนาคตและรู้ความในใจของคนที่สนทนากับท่านได้โดยเขียนว่าหลวงพ่อปานเคยเล่าให้ศิษย์ของท่านฟังว่า วันหนึ่งแมวของหลวงปู่เนียมตายไป วันนั้นขณะที่หลวงปู่ฉันข้าวร่วมวงอยู่กับพระลูกวัดสองรูป อยู่ดีๆ หลวงปู่เนียมก็หัวเราะก๊ากขึ้นมาอย่างไม่มีปี่มีขลุ่ยแล้วก็เอ่ยขึ้นว่าเออ อีไฝของกูมันดีเว้ย มันไปเกิดเป็นคนแล้ว แล้วก็เอ่ยต่อถึงชื่อของผัวเมียคู่หนึ่งที่ท้ายตลาดคอวังพระลูกวัดที่ร่วมวงได้ยินท่านพูดและจำไว้ด้วยความสงสัย อีกหนึ่งปีต่อมาพระสองรูปนั้นก็ลองไปที่ตลาดคอวังเพื่อพิสูจน์คำพูดของหลวงปู่ โดยไปถามหาผัวเมียคู่ที่หลวงปู่เนียมพูดถึง ก็พบว่ามีลูกสาวเกิดมาแล้วอายุได้หนึ่งเดือนมีรูปพรรณตรงกับที่หลวงปู่บอกไว้ คือมีไฝที่ริมฝีปากเหมือนแมวตัวที่ตายไปเมื่อปีที่แล้วจริงพระทั้งสองรูปบอกความจริงให้สองผัวเมียทราบถึงการมาพิสูจน์ของท่าน

         สองผัวเมียดีใจที่ลูกของตนคือแมวของหลวงปู่เนียมกลับชาติมาเกิดเมื่อเด็กอายุได้สามเดือน จึงพากันมาที่วัดแล้วเอาเด็กไปประเคนที่หน้าตัก บอกยกให้เป็นลูกหลวงปู่เนียมหลวงปู่ทำท่าตกใจถามว่า พวกเอ็งเอาอีหนูนี่มาประเคนให้กูทำไม ถามไปถามมาก็รู้เรื่องพระลูกวัดสองรูปที่ไปหาผัวเมียคู่นั้นหลวงปู่จึงให้พระทั้งวัดมายืนให้ผัวเมียคู่นั้นดูว่าเป็นพระรูปใดที่ไปหา แต่พระทั้งสองรูปได้หลบไปซ่อนตัวกลัวโดนด่าอยู่หลังวัด หลวงปู่ก็รู้ว่าไปแอบที่ไหน จึงให้พระรูปหนึ่งไปตาม แต่พระทั้งสองรูปขอให้มาโกหกว่าตามหาไม่พบพระรูปนั้นก็กลับมาบอกหลวงปู่เนียมตามที่สั่งกัน ท่านก็สวนคำไปว่า มันจะพบได้ยังไงวะก็มันสั่งเอ็งให้มาบอกกูว่าหาไม่เจอนี่หว่า


            เรื่องรู้เหตุการณ์ล่วงหน้า
           วันหนึ่งมีพระหนุ่ม 4รูป จากวัดสุวรรณภูมิ เข้ามากราบหลวงปู่ หลวงปู่ก็ทักว่าจะมาหาฤกษ์สึกใช่ไหมล่ะยังความแปลกใจให้กับพระทั้ง 4 รูปนั้นมากหลวงปู่ก็ดูฤกษ์ให้ด้วยความเมตตา แต่สำหรับพระอีกรูปหนึ่งท่านได้ห้ามไว้บอกว่าชะตาไม่ดี อย่างเพิงสึกตอนนี้ สึกออกไปก็ถึงตายท่านไม่ยอมให้ฤกษ์กับพระรูปนั้น ในที่สุดพระทั้ง 4 รูปก็ลากลับ

           สามรูปที่ท่านดูฤกษ์ให้ ก็สึกออกไปตามฤกษ์และพระรูปที่สี่นั้น ร้อนผ้าเหลือง ไม่ยอมฟังคำทัดท่านของหลวงปู่ ก็พลอยสึกไปด้วยแล้วกลับไปอยู่บ้าน หัวค่ำคนหนึ่ง ไม่ทันที่ผมจะยาวถึงครึ่งองคุลี ขณะที่นั่งคุยกันกับพ่อแม่พี่น้องที่ชานบ้านได้มีคนร้ายแอบซุ่มอยู่ข้างล่างยิงปืนเข้ามาที่กลุ่มญาติ พอสิ้นเสียงปืน ท่ามกลางความตะลึงของคนทั้งบ้านปรากฏว่าทิดสึกใหม่หงายหลังลงสิ้นใจทันทีเพราะลูกปืนเจาะเข้าที่หัวพอดี ตั้งแต่นั้นมาเมื่อหลวงพ่อเนียมพูดว่ากล่าวทักท้วงสิ่งใด ชาวบ้านจะเชื่อถือไม่กล้าตะแบงกับท่านอีกเลย
     มีเรื่องเล่าสืบทอดกันมาอีกเรื่องว่า ท่านสามารถสื่อความหมายรู้เรื่องกับสัตว์เลี้ยงของท่านเขาเล่ากันว่าท่านเลี้ยงไก่ หมา กับแมวไว้มากมาย บนกุฏิของท่านยั้วเยี้ยไปด้วยแมวชาวบ้านจะเห็นว่า วันๆ ถ้าว่างจากพูดคุยกับคนท่านก็จะพูดกับสัตว์พวกนี้เหมือนดังว่ามันรู้ภาษาพอมันร้องอี๊ดอ๊าดตอบ ท่านก็พูดต่อคำกับมันเป็นเรื่องเป็นราว คนในละแวกวัดน้อยหลายคนหาว่าท่านเป็นบ้าร้อนวิชา ที่ใช้เวลาวัน ๆ ถ้าไม่พูดกับคน ก็พูดคุยกับแมว หมา กา ไก่ในวัดและมีวัตรแปลก ๆ อยู่เสมอ
     คุณมงคล วงษ์ลือ (อายุ ๖๑ ปี)ลูกหลานวัดน้อยอีกคน ที่ผู้เขียนไปพบขณะแวะไปกราบหลวงพ่อครั้งที่สามเล่าถึงอภินิหารของหลวงปู่ให้ฟังอีกมากมาย น่าสนุกสนานคล้ายๆ กับที่เขียนลงในนิตยสารพระเครื่องหลายฉบับ ซึ่งถ้าคนรุ่นใหม่ได้ฟังก็คงไม่มีใครเชื่อแต่เรื่องที่เกี่ยวข้องกับตอนที่หลวงพ่อปานเดินทางมาฝากตัวเป็นศิษย์นั้นน่า สนใจ 
     ท่านเล่าว่าเมื่อหลวงพ่อปานธุดงค์มาถึงวัดน้อย เห็นพระแก่ๆ ครองสบงเก่า ๆมอมแมมทำงานวัดอยู่กับพระเณร หลวงพ่อปานก็เดินตรงเข้าไปสนทนาด้วยแล้วถามหาหลวงปู่เนียม ท่านก็บอกว่าฉันนี่แหละชื่อเนียม ถึงได้รู้กัน ก็คงมีการกราบกรานขอโทษขอโพยกันตามธรรมเนียมที่จุดไต้ตำตอเพราะไม่คาดว่าพระแก่มอมแมมจะเป็นพระเถราจารย์ผู้ยิ่งใหญ่ จึงปวารณาตัวขอเป็นศิษย์ครั้งแรกท่านก็ปฏิเสธท่าเดียว โดยถ่อมตนเองว่า เป็นลูกศิษย์ฉันจะได้อะไรคนแถวนี้เขาว่าฉันบ้ากันทั้งนั้น หลวงปู่ท่านทำไม่สนใจไล่กลับลูกเดียวแต่โดยคำแนะนำของพระลูกวัด บอกให้หลวงพ่อปานค้างคืนอยู่ที่วัดก่อน คงประกอบกับความอุตสาหะของหลวงพ่อปานด้วยท่านก็ทำตามคำแนะนำ
     ครั้นพอเวลากลางคืนยามดึกสงัด หลวงปู่เนียมก็ให้พระไปตามหลวงพ่อเข้าไปพบที่กุฏิเขาว่าหลวงพ่อปานตกใจมาก เพราะรูปร่างหน้าตาของหลวงปู่เนียมที่ เห็นนั้นผอมเกร็ง-ดำ-แก่และมอมแมม ตอนนี้ครองจีวรเรียบร้อยสะอาดสมบูรณ์ สดใส ผิดกับที่พบเมื่อตอนกลางวันเป็นคนละคนเลยนั่งอยู่เหมือนจะรอให้ท่านเข้าพบ ในที่สุดหลวงพ่อปานก็ได้เป็นศิษย์ดังที่เรารู้กัน
     เล่าขานสืบกันมาอีกว่าตลอดระยะเวลาที่หลวงพ่อเนียมมีชีวิตอยู่นั้น ไม่เคยมีใครถ่ายรูปท่านได้ -ขุนดอน เขียนไว้ว่าเมื่อครั้งพระประมาณฯเจ้าหน้าที่กรมที่ดิน นำฝรั่งช่างรังวัด๒ คนมารังวัดที่ ในเขตเมืองสุพรรณ เพื่อออกโฉนดให้ราษฎร์เมื่อรังวัดมาถึงท้องที่วัดน้อย ก็ได้ถือโอกาสเข้าขอถ่ายรูปหลวงพ่อเนียม โดยให้ฝรั่งเอากล้องถ่ายรูปของทางราชการช่วยถ่ายให้ตัวคุณพระประมาณฯ นั้น เคยรู้กิตติศัพท์มาแล้วว่ามีคนเคยมาขอถ่ายรูปหลวงปู่หลายรายแล้วแต่ก็ไม่สำเร็จสักราย คราวนี้มีกล้องฝรั่งอย่างดีมาด้วย ก็อยากจะลองพิสูจน์สักหน่อยมันก็น่าจะติด
     คุณพระฯ ได้นิมนต์หลวงปู่และพระทั้งวัดมานั่งเรียงลำดับแล้วถ่ายรูปหมู่และถ่ายเดี่ยวด้วย แต่จะเป็นกี่รูปไม่ทราบ ครั้นเมื่อนำฟิล์มไปล้างอัดเป็นรูปออกมาความอัศจรรย์ก็ปรากฏคือ ในทุกภาพที่อัดออกมาไม่มีรูปของหลวงปู่เนียมติดอยู่ด้วยเลย ที่ถ่ายเดี่ยวข้างโอ่งน้ำมนต์ก็ติดแต่ตัวโอ่ง เล่ากันว่าทั้งตัวคุณพระประมาณฯ และฝรั่งทั้งสองคนต่างก็เลื่อมใสศรัทธาในตัวหลวงปู่ยิ่งนักและได้ปวารณาตัวฝากตัวขอเป็นศิษย์หลวงปู่

         ถ่ายรูปไม่ติด
         อย่างไรก็ตามท่านผู้อ่านอาจสงสัยว่าแล้วรูปถ่ายที่ลูกศิษย์ลูกหาเอาใส่กรอบ บูชาและที่เอาลงหนังสือกันนั้นมาจากไหนจึงขอเรียนว่า รูปของหลวงปู่ที่ได้มามีเพียงรูปเดียว เป็นรูปที่ถ่ายได้หลังจากที่ท่านมรณภาพแล้ว คือท่าที่เขาจัดให้ท่านนอนตะแคงบนตั่งเตียงส่วนรูปท่านั่งนั้นเล่ากันว่า ช่างได้เอารูปหน้าของท่านไปตัดต่อสวมกับส่วนลำตัวของพระภิกษุรูปอื่น โดยมีการตกแต่งส่วนใบหน้าที่ไม่ชัดขึ้นมาโหม่ ทำให้ดูเป็นหน้าค่อนข้างกลมและศีรษะล้านไปหน่อย

         ทดสอบวิชากับหลวงปู่ปานวัดบางเหี้ย
         วันหนึ่งท่านให้ชาวบ้านเตรียมภัตตาหารเลี้ยงพระไว้๕๐ สำรับ ซึ่งยังความแปลกใจให้ชาวบ้านมากเพราะหลวงปู่เนียมไม่เคยบอกว่าพรุ่งนี้จะมีงานอะไรวันที่ว่าก็ไม่ใช่วันพระ พระเณรในวัดก็มีแค่ไม่ถึงสิบรูปสงสัยเป็นหนักหนาก็พากันไปกามท่านท่านก็ยิ้มๆแล้วบอกว่า พวกเอ็งทำมาเถอะน่า ชาวบ้านไม่กล้าซักไซ้มากกลัวท่านจะเอ็ดเอา
         วันรุ่งขึ้นต่างก็พากันนำอาหารมาตามที่ท่านขอ ดูชุลมุนวุ่นวายราวกับมีงานใหญ่ครั้นพอถึงเวลาเพล ก็ไม่เห็นมีพระเณรที่ไหนจะมาฉันต่างซุบซิบกันว่าท่านจะเล่นอะไรอีกละนี่ แต่เลยเพลมาครู่เดียวก็พากันตกตะลึงด้วยความอัศจรรย์ใจ เพราะเห็นพระเณรจำนวนมากแบกกลดเดินตามพระแก่ ๆ รูปหนึ่งเป็นแถวเข้ามาในวัดชาวบ้านเห็นหลวงปู่เนียมออกไป ปฏิสันฐานทักทายกับหลวงพ่อองค์นั้นแบบคนรู้จักกันทั้งๆ ที่ไม่เคยพบเห็นกันมาก่อนแล้วหลวงปู่ก็นำพระเณรทั้งหมดขึ้นไปบนหอฉันภายหลังชาวบ้านก็ทราบว่าหลวงพ่อรูปนั้นคือหลวงปู่ปานแห่งวัดบางเหี้ย คลองด่านจังหวัดสมุทรปราการ เจ้าของเขี้ยวเสือที่ศักดิ์สิทธิ์ของนักเลงพระในปัจจุบัน ซึ่งท่านนำพระเณรสานุศิษย์เกือบร้อยรูปธุดงค์ลัดเลาะตามทางเกวียนผ่านมา เพื่อไปกราบนมัสการหลวงพ่อโตวัดป่าเลไลย์ เมื่อจวนเวลาเพลก็ธุดงค์มาใกล้วัดน้อยและพอได้ยินกลองเพลดังขึ้น ก็เกิดลมพายุขึ้นอย่างแรงจนพระเณรที่แบกกลดพะรุงพะรังแทบจะทรงตัวไม่อยู่ เล่ากันว่าหลวงปู่ปานแปลกใจในปรากฏการณ์นี้มาก ท่านยืนหลับตาสงบเงียบอยู่ชั่วครู่แล้วก็บอกพระเณรลูกแถวของท่านว่า จะต้องแวะฉันเพลที่วัดน้อยซะแล้วเพราะเจ้าวัดท่านนิมนต์ให้แวะ ไม่ควรขัดศรัทธาและทันใดนั้นเองพายุนั้นก็สงบลงทันที


      ห้ามฝนตกในงานวัด
          เล่ากันว่าเมื่อต้นฤดูฝนปีหนึ่งท่านมีอายุครบ ๖ รอบ (ราวๆ พ.ศ. ๒๔๔๔-๒๔๔๕)ชาวบ้านร่วมใจกันจัดงานทำบุญแซยิดให้ท่าน โดยจัดเป็นงานใหญ่ มีเทศน์หลายธรรมาสน์มีการออกร้านมีการละเล่น ลิเก ลำตัด เพลงฉ่อย หนังตะลุงฯลฯ สมโภชฉลองกันอย่างเอิกเกริกแบบงานประจำปี มีร้านขายดอกไม้ธูปเทียนและทองบูชาหลวงพ่อในโบสถ์ มีร้านรวงขายของเล่น จับรางวัลและขายอาหารเพียบพร้อมซึ่งบังเอิญช่วงเวลานั้นเข้าหน้าฝนแล้ว
          พอเวลาใกล้ค่ำผู้คนก็ทยอยเข้ามาเรื่อยๆ แต่ปรากฏว่ามีกลุ่มเมฆดำที่ก่อตัวมาจากที่อื่นถูกลมพัดพามาปกคลุมท้องฟ้าเหนือบริเวณวัดดูมืดครึ้มไปหมดแล้วฝนก็พรำๆ ลงมา ชาวบ้านเริ่มวิ่งหลบเข้าหาที่กำบังกันตามใต้ถุนกุฏิและศาลา ดูกลุ่มเมฆแล้วฝนต้องตกหนักแน่ทุกคนคาดกันว่างานนี้ต้องพังแน่นอน พวกร้านรวงที่ไม่มีหลังคากำบังก็โกลาหลเริ่มขนย้ายข้าวของหาที่หลบฝน ขณะนั้นเองคนทั้งหลายก็เห็นหลวงปู่เดินออกมาจากกุฏิยืนแหงนมองดูท้องฟ้า สักพักใหญ่ๆแล้วเดินวนไปมาแบบเดินจงกรม อีกชั่วครู่ท่านก็ตะโกนบอกชาวบ้านว่าไม่ต้องเก็บข้าวของแล้วเทวดาท่านช่วย ไล่ฝนไปแล้ว
          ชาวบ้านต่างก็แหงนมองดูฟ้าก็เห็นปรากฏการณ์อัศจรรย์ขึ้น กล่าวคือเห็นกลุ่มเมฆหนาทึบนั้นแตกตัวลอยห่างออกไปแล้วท้องฟ้าเหนือวัดก็ค่อยแจ่มใสขึ้นเม็ดฝนที่พรำลงมาก็ขาดเม็ดไป ผู้คนก็เริ่มทยอยกันเข้ามาจนเต็มงาน เล่ากันว่าเมื่องานเลิกผู้คนที่อยู่ห่างวัดออกไปสักหน่อยก็ต้องเดินท่องน้ำ กลับบ้าน

              ปราบคุณไสย
          คุณป้าทรัพย์เหลนชวดจาด พี่สาวของหลวงปู่เนียม ที่ผู้เขียนไปหาเพื่อขอประวัติของหลวงปู่เล่าว่าชวดจาดเคยคุยให้ฟังว่า หลังฤดูเก็บเกี่ยวของทุกปีจะมีคนกลุ่มหนึ่งรู้จักกันว่า เป็นพวกลาวข่าจากหมู่บ้านห่างไกลรวมกลุ่มตระเวนมาตามหมู่บ้านต่างๆ พวกนี้จะร่อนเร่มาขายเครื่องยาสมุนไพร-เครื่องรางของขลังของเผ่า หรือทั้งขาย แลก และขอข้าวสารข้าวเปลือก เสื้อผ้าและของอื่นใดที่เหลือกินเหลือใช้จากชาวบ้าน ตระเวนกันเป็นแรมเดือนและเข้าไปแทบจะทุกหมู่บ้านเลย ตกเย็นคนพวกนี้ก็จะมารวมพลค้างแรมกันตามวัด ซึ่งโดยทั่วไปค่อนข้างจะกว้างขวางโล่งเตียนปราศจากสัตว์ร้าย
          วันหนึ่งที่วัดน้อยก็มีคนกลุ่มนี้มาอาศัยพักแรม รวมพลและรวมเสบียงที่ขอมาได้ตกเย็นมีการหาปลาโดยการทอดแห วางข่ายกันแถวปากคลองข้างวัดมาประกอบอาหาร ส่วนที่เหลือก็ทำเค็มตากแห้งไว้เป็นเสบียงที่ๆ ทำปลาและตากปลาก็คือพื้นสะพานศาลาท่าน้ำหน้าวัดหลังนั้นนั่นแหละ เป็นที่สกปรกเกะกะมาก
          หลวงปู่มาเห็นเข้าขณะที่พวกมันกำลังทำปลาอยู่พอดี ท่านก็เอ็ดเอาว่าบักพวกนี้นรกจะกินหัว จับปลาหน้าวัดแล้วทำเลอะเทอะเกะกะไปหมดพระเณรจะอาบน้ำอาบท่าก็ไม่ได้ ขวางไปหมดไปๆ พวกเอ็งไปทำกันที่อื่น
          ท่านคงว่าไปมากกว่านี้ แล้วท่านก็หันหลังเดินกลับและแล้วท่านก็ต้องเหลียวขวับกลับมา เพราะมีเสียงแซกๆ มาข้างหลัง หัวปลาสดๆ ที่เจ้าพวกนั้นตัดแยกไว้เตรียมทำเค็มกองไว้บนพื้นสะพานนั้นเอง กระดืบตามหลังท่านมาเป็นขบวนท่านหันหลังกลับทันที ชี้มือไปที่กลุ่มลาวข่านั้นแล้วตวาดว่าพวกเอ็งจะทำอะไรกู หัวปลาเหล่านั้นก็หยุดอยู่กับที่ท่านคงด่าต่อไปอีกเป็นแน่เพียงครู่เดียวแล้วเจ้าลาวข่าคนสูงอายุที่เป็นจ่าฝูงที่นั่งเฉยๆ ดูลูกเมียทำปลาอยู่ใกล้ๆก็ตัวงอหน้านิ่วคิ้วขมวด พวกลูกเมียและพวกบริวารทั้งหลายก็รู้ได้ทันทีว่า บักตัวจ่าฝูงโดนหลวงปู่เล่นงานกลับแล้ว ต้องกราบขอโทษขอให้หลวงปู่ถอนอาคมให้


         ย่นระยะทาง
          คุณป้าทรัพย์เล่าแถมอีกสองเรื่อง เรื่องที่หนึ่งว่าแม่ของแกเล่าว่า ครั้งหนึ่งหลวงปู่ได้รับตราตั้งอะไรจำไม่ได้ ซึ่งต้องไปรับตาลปัตรที่เมืองบางกอก เมื่อถึงกำหนดแล้วก็ไม่เห็นหลวงปู่กระตือรือร้นที่จะไป พวกลูกหลานลูกศิษย์ลูกหาก็มาเตือนให้ไปท่านก็ได้แต่เออๆ แต่ไม่ไปสักที เตือนแล้วเตือนอีกหลายหนเพราะกลัวว่าท่านจะลืมและเลยกำหนด มาวันหนึ่งก็มาเซ้าซี้ให้ท่านไปอีกท่านก็บอกไปว่า กูไปรับมาแล้วโว้ย พวกลูกศิษย์ก็เถียงว่าหลวงพ่อไปเมื่อไหร่ฉันเห็นหลวงพ่ออยู่วัดทุกวัน ท่านก็เถียงกลับว่าเออ กูไปรับมาแล้วซิวะ แล้วท่านก็เดินเข้ากุฏิถือตาลปัตรพัดยศออกมาให้ดู


       ไปรับบิณฑบาตที่พระพุทธบาทสระบุรี
         มีเรื่องเล่าถึงการย่นระยะทางไปมาตามที่ต่างๆ คล้ายกับที่คุณป้าทรัพย์เล่าเรื่องหลวงปู่ไปรับพัดที่เมืองบางกอก เรื่องมีอยู่ว่าไม่ว่าฝนจะตกฟ้าจะร้องอย่างไร หลวงปู่ต้องนำขบวนพระลูกวัดออกรับบิณฑบาตเป็นกิจวัดร ถ้าหน้าแล้งก็อาจเดินไปตามทางหลังวัดหรือไม่ก็ทางน้ำโดยเรือพาย อยู่มาวันหนึ่งในเดือนสามซึ่งเป็นหน้าเทศกาลไหว้พระพุทธบาท สระบุรี ท่านให้พระลูกวัดออกไปบิณฑบาตกันเอง
          ครั้นเมื่อพระลูกวัดกลับมาแล้วและตั้งวงฉันเช้า หลวงปู่ก็เอาบาตรของท่านออกมาร่วมวงด้วยเมื่อท่านเปิดฝาบาตรเท่านั้นพวกพระลูกวัดต่างก็แปลกใจมาก เพราะในบาตรนั้นมีข้าวปลาอาหารและไข่เค็มเต็มบาตร จึงพากันถามท่านว่าไปรับบิณฑบาตบ้านไหนท่านก็ตอบหน้าตาเฉยว่า ข้าไปบิณฑบาตที่พระพุทธบาทสระบุรี
          เหตุการณ์แปลก ๆ เช่นนี้เกิดขึ้นอีกครั้งตอนเช้ามืดของวันหนึ่ง ท่านให้พระลูกวัดไปบิณฑบาตกันเองอีกโดยบอกว่าวันนี้ได้รับนิมนต์ไว้ แล้วท่านก็แยกเดินไปทางหลังวัดชั่วครู่ใหญ่ ๆ ท่านก็กลับ เมื่อพระลูกวัดกลับก็ตั้งวงฉันร่วมกันเช่นปกติ คราวนี้ในบาตรของหลวงปู่มีข้าวและอาหารอื่นดีๆทั้งนั้นเต็มบาตรมาอีก พระลูกวัดถามท่านอีกว่าไปบ้านใครมาคราวนี้ท่านก็ตอบหน้าตาเฉยอีกว่า วันนี้พวกรุกขเทวดาที่สถิตย์อยู่แถวชายป่าข้างหลังมณฑป มานิมนต์ไปรับบาตร


ใช้มนตร์บังตาข้าราชบริพารของพระพุทธเจ้าหลวง
          เรื่องนี้เป็นเรื่องล่าสุดที่ผู้เขียนได้รับฟังมาสดๆ ร้อนๆ จากพระเดชพระคุณท่านพระครูสุมณฑ์ภาวนานุรักษ์เจ้าคณะอำเภอบางปลาม้า และเจ้าอาวาสวัดกลางเมื่อวันไปทำบุญกระดูกให้สมุห์เหลือ-คุณครูบุญส่ง มาลา บิดา-มารดาของมัคคุเทศก์ที่พาผู้เขียนไปกราบนมัสการรูปหล่อของหลวงปู่เป็น ครั้งแรก
          ท่านหลวงพ่อวัดกลางเล่าว่า มีเรื่องเขียนในจดหมายเหตุว่า เมื่อครั้งที่สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จโดยชลมารค มาตรวจราชการที่เมืองสุพรรณบุรีเมื่อราวๆ ร้อยปีที่ผ่านมา ชาวบ้านชาวเมืองและวัดวาอารามสองฟากฝั่งลำน้ำท่าจีนตามรายทางเสด็จต่างประดับธงทิวรอรับเสด็จกันถ้วนทั่วรวมทั้งวัดน้อยของหลวงปู่เนียมด้วย
         การเสด็จครั้งนี้นอกจากจะแวะนมัสการหลวงพ่อโต วัดป่าเลไลยก์เป็นปฐมแล้ว พระองค์ท่านก็ได้แวะขึ้นเยี่ยมวัดบางวัดตามรายทางด้วย ในครั้งนั้นพระองค์ทรงทราบถึงประวัติความเป็นมาของหลวงปู่เนียมเป็นอย่างดี จึงได้รับสั่งว่าเมื่อขบวนเรือถึงวัดน้อยให้แวะเยี่ยมหลวงปู่ด้วย จะเป็นเหตุใดไม่ปรากฏเที่ยวแรกขบวนเรือแจวกันเพลิน ผ่านเลยวัดน้อยขึ้นไปจนถึงวัดถัดไปจึงเอะอะกันว่าเลยวัดไปแล้วเกือบคุ้งน้ำ สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงก็รับสั่งให้กลับเรือ แต่แล้วก็เกิดการแจวเรือเลยวัดอีกจนได้พวกพนักงานเรือคราวนี้เหงื่อท่วมตัวแล้วด้วยเกรงพระราชอาญา กราบทูลขอพระราชทานอภัยโทษและจะกลับขบวนเรืออีกครั้งเพื่อจะแวะให้ได้
         แต่สมเด็จพระพุทธเอาหลวงกลับไม่คือโทษอะไรตรัสว่าไม่ต้องแวะแล้ว เจ้าวัดเขาคงไม่ยินดีต้อนรับเราและแล้วก็เสด็จเลยไปแวะที่วัดตะค่า(วัดตะเคียนทองในปัจจุบัน) ให้ท่านสมภารรดน้ำมนต์ให้แทน และได้ถวายเครื่องอัฐบริขารจำนวนหนึ่งให้เจ้าอาวาส ซึ่งท่านเจ้าอาวาสรูปนั้นก็เก็บรักษาไว้ไม่ยอมนำออกใช้ และเมื่อสองสามปีที่ผ่านมาได้มีการค้นพบสิ่งของเหล่านั้นและเป็นเรื่องฮือฮากันในหน้าหนังสือพิมพ์เมื่อต้นปี๒๕๓๙ นี้เอง
          คราวนี้ย้อนกลับมาทางด้านวัดน้อยบ้างมีเรื่องเล่าขานกันสืบมาว่า แม้คราวนั้นจะมีการประดับประดาธงทิวรับเสด็จตามธรรมเนียม ตามวัดทั้งหลายพระเณรจะต้องมีการสวดชยันโตถวายพระพรเมื่อขบวนเรือมากึงหน้า วัด ที่วัดน้อยก็เช่นกัน แต่พวกลูกศิษย์ลูกหาได้สังเกตเห็นหลวงปู่เก็บตัวเงียบอยู่ในกุฏิ ไม่ออกมาสวดชยันโตร่วมกับพระลูกวัด จึงเข้าไปถามกันภายหลังถึงเหตุที่ไม่คอยรับเสด็จเหมือนสมภารวัดอื่น
          หลวงปู่เนียม ก็ว่า ก็กูมัวแต่ใจหายใจคว่ำนั่งภาวนากลัวว่าพระองค์ท่านจะแวะวัดกูนะซิวะ พวกลูกศิษย์ญาติโยมก็ซักถามว่ามันเรื่องอะไรกันใครๆ ก็อยากให้เจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินแวะเยี่ยมกันทั้งนั้นหลวงปู่ก็ตอบว่า พวกเอ็งดูซิวัดกูมีอะไรหมา-แมว-ไก่เกลื่อนไปทั้งวัด ยิ่งบนกุฏิกู มันขี้กันเกลื่อนเหม็นไปหมดแล้วจะให้กูเอาหน้าที่ไหนไปรับเสด็จพระองค์ท่าน


      ศพของหลวงปู่ไม่เน่าเปื่อย
         มีเรื่องของหลวงปู่เนียมในหนังสือเรื่องพระ เครื่องของหลวงพ่อปาน โดยคุณบุรีรัตนา ตอนหนึ่งอ้างว่าหลังจากที่หลวงปู่มรณภาพแล้ว ทางวัดได้เก็บศพของท่านไว้ระยะหนึ่งจึงได้ทำพิธีถวายเพลิงศพของท่าน เมื่อสัปเหร่อเปิดหีบศพเพื่อประกอบพิธีกรรมตามประเพณี ปรากฏว่าศพของหลวงปู่ไม่เน่าเปื่อยและไม่มีกลิ่นเหม็นหลวงพ่อปานซึ่งท่าน ได้มาช่วยงานในฐานะศิษย์ได้ขอให้ทางวัดเก็บศพของหลวงปู่ไว้ให้สานุศิษย์ได้สักการะบูชา แต่บรรดาคณะกรรมการวัดได้ปฏิเสธท่าน โดยอ้างว่าได้เตรียมการถวายเพลิงไว้แล้วและแขกเหรื่อก็มากันเต็มวัดแล้ว จำเป็นต้องดำเนินการไปตามกำหนดการเดิม เล่ากันว่าหลวงพ่อปานเสียใจมากที่คนพวกนั้นไม่ฟังคำทักท้วงของท่าน เราท่านลองคิดดูซิว่าถ้าศพของหลวงปู่ถูกเก็บรักษาอยู่ถึงวันนี้ วัดน้อยจะมีสภาพเช่นทุกวันนี้หรือไม่ก็เหลือที่จะเดาได้

ดอกเทียนตกจากท้องฟ้าวันถวายเพลิงศพหลวงปู่
          เรื่องนี้เล่าโดยป้าทรัพย์อีกโดยบอกว่าฟังมาจากคุณแม่ของท่าน ว่างานถวายเพลิงศพหลวงปู่นั้นเป็นงานใหญ่มาก ลูกศิษย์ลูกหามากันเป็นร้อยเป็นพัน มีทั้งพวกเจ้านายขุนนางชั้นผู้ใหญ่จากบางกอกและหัวเมืองใกล้เคียง พวกพระเถรานุเถระ-พระเกจิอาจารย์ดังๆ ทั้งที่เป็นสหธรรมิกและศิษยานุศิษย์ของท่านหน้าวัดคลาคล่ำไปด้วยเรือเมล์ เรือพายเรือแจว บนศาลาวัดมีวงระนาด วงดังของบางปลาม้า สองวงประชันกัน ตกกลางคืนมีมหรสพฉลองกระดูกครึกครื้นเหมือนงานประจำปี เวลาถวายเพลิงศพท่านนั้นวันนั้นท้องฟ้ามืดครึ้มทั้งๆ ที่เป็นกลางฤดูร้อน ครั้นได้เวลาถวายเพลิงยังไม่ทันที่คนสุดท้ายจะลงจากเมรุฝนก็โปรยปรายลงมาแต่ก็ไม่มากนักพอได้เปียกเย็นหัวกันเท่านั้น
          แต่ที่อัศจรรย์ที่สุดก็คือ พวกที่จะลงเรือกลับบ้านได้เห็นว่าที่ท้องน้ำหน้าวัด มีดอกเทียนแบบที่หยดลงในขันน้ำมนต์ลอยเกลื่อนไปหมด ผู้คนที่เห็นพากันเอะอะลอยเรือแย่งกันเก็บดอกเทียนเป็นโกลาหล ป้าทรัพย์เล่าว่าขณะนี้ดอกเทียนที่ว่านั้นยังอยู่บนหิ้งบูชาของลูกหลานของคน บางคนที่เก็บได้มาในวันนั้น
          แกเล่าต่อว่าพอศพท่านไหม้หมด เถ้าถ่านและเศษกระดูกของหลวงปู่เนียมที่ ไหม้ไม่หมดบนเชิงตะกอนยังไม่ทันจะเย็นสัปเหร่อก็ยังไม่ทันจะขึ้นไปทำพิธีเก็บอัฐิของท่าน พวกลูกศิษย์ลูกหาก็เฮโลขึ้นไปแย่งอัฐิที่ยังหลงเหลือบนเชิงตะกอนกันคนละชิ้น สองชิ้น บ้างก็เอาเข้าปากเคี้ยวกลืนกินจนหมดสิ้น ฉะนั้นส่วนที่เหลือบรรจุอยู่ในสถูปของท่านขณะนี้ก็คือเถ้าถ่านไม้ฟืนและอังคารธาตุของท่านเท่านั้น
            มี เรื่องเล่าขานถึงอภินิหารของหลวงปู่เนียมมากมาย ฟังแล้วน่าสนุกเพราะผู้เล่าและผู้เขียนเรื่องของท่านถ่ายทอดออกมาเป็นคำพูด ราวกับอัดเทปไว้ ถ้าผู้อ่านต้องการอ่านให้สนุกก็ไปหาอ่านเอาเองจากหนังสือที่ได้อ้างอิง แต่อย่างไรก็พอสรุปได้ว่าหลวงปู่เนียมนั้นเก่งกล้ามีอภินิหารเป็นที่เลื่อง ลือและเป็นสุดยอดของพระมหาเกจิเถราจารย์ที่คนเมืองสุพรรณรุ่นเก่าให้ความเคารพบูชามากบางคนกล่าวเปรียบเทียบว่าท่านเป็นเสมือนท่านเจ้าประคุณสมเด็จ (โต)ของเมืองสุพรรณ
          เรื่องเล่าขานถึงปาฏิหาริย์ของหลวงปู่มีอีกมากมายนอกจากน้ำมนต์ท่าน้ำ แมวที่เลี้ยงไว้กลับชาติไปเกิดเป็นคน การทดสอบวิชากับหลวงปู่ปานวัดบางเหี้ยห้ามฝนไม่ให้ตกในงานแซยิดของท่าน ก็มีเรื่องเทศนาโปรดผีสาวท้องแก่ผูกคอตายใกล้ๆ วัด ไม่ให้มาอาละวาดหลอกหลอนพระเณรและชาวบ้านฟังแล้วสนุกสนานน่าทึ่งพอ ๆ กับเรื่องแม่นาคพระโขนง
          เรื่องราวของท่านบางเรื่องก็น่าจะเป็นไปได้จริงๆ ในสมัยนั้นยุคนั้น แต่ก็มีการเขียนเรื่องหรือเล่าแต่งเติมเอาวันเวลาและโดยเฉพาะเรื่องคำพูดคำ จาที่ถ่ายออกมาราวกับว่าถอดออกมาจากเทปหรือผู้เขียนอยู่ในเหตุการณ์ด้วย จนทำให้เรื่องที่เอามาเขียนดูเป็นเรื่องนิยายไป อาจไม่เป็นที่น่าเชื่อถือของผู้อ่านผู้ฟังที่เป็นคนรุ่นใหม่ เพราะในยุคนั้นไม่ปรากฏว่ามีพระเกจิอาจารย์ดังๆ เช่นในยุคก่อน จึงไม่ขอนำมาเขียนในที่นี้ และส่วนที่เขียนมาทั้งหมดนี้ก็รวบรวมมาจากการเขียนและคำบอกเล่ามาจากแหล่ง ที่เอ่ยชื่ออ้างอิงมา ทั้งนี้เพื่อมิให้เรื่องของหลวงปู่ต้องสูญหายไปกับกาลเวลา จะเท็จจริงแค่ไหนขอท่านได้วินิจฉัยกันเอาเอง
          เรื่องปาฏิหาริย์อีกเรื่องหนึ่งที่ผู้เขียนเพิ่งได้ฟังและได้เห็นคือขณะที่ กำลังจะไปกราบองค์ท่านเพื่อขอเก็บเถ้าธูปและดอกไม้แห้งหน้าองค์หลวงปู่ และร่อนเอาฝุ่นผงจากอิฐผุจากผนังวิหารหลังเก่าเพื่อใช้เป็นมวลสารสร้างพระ เครื่องถวายให้วัดเอาไว้แจกพรรคพวกที่ผู้เขียนชักชวนมาทอดผ้าป่าเพื่อรวบรวม เป็นทุนสมทบกับผู้ใจบุญท่านอื่น ๆ ที่มาบริจาคเงินสมทบทุนสร้างมณฑปถวายหลวงปู่เนียม
        ได้ยินชาวบ้านแถวนั้นคนหนึ่งยืนคุยกับคนต่างถิ่นที่แวะมากราบหลวงปู่เนียม ว่าอภินิหารของหลวงปู่เนียมนั้น น่าทึ่งนักที่โคนมะขามใหญ่มีกิ่งมะขามขนาดโตกว่าโคนขายาวหลายวากองอยู่ข้าง ๆ แกเล่าว่ากิ่งมะขามกิ่งนี้ปกติเคยแผ่ออกไปอยู่เหนือหลังคาศาลา อยู่ๆ มาเกิดแห้งไปเฉย ๆ ทุกคนมีแต่ความวิตกว่าไม่วันหนึ่งวันใด ถ้ามันผุและหักลงมาหลังคาศาลาต้องพังเป็นแถบแน่ ๆ คิดจะตัดออกก่อนที่มันจะผุและหักลงมา ก็ยังไม่ได้ทำ ทุกคนได้แต่ภาวนาในใจขอบารมีหลวงปู่เนียมช่วยให้กิ่งมะขามใหญ่ อย่าเพิ่งหักลงมาเลย เพราะหลังคาต้องพังแน่ ๆและแล้ววันนั้นก็มาถึง คืนหนึ่งไม่กี่ปีที่ผ่านมามีพายุพัดมาทำให้กิ่งมะขามกิ่งมหึมานั้นหักลงมา เช้าของวันรุ่งขึ้นทุกคนต้องเกิดอาการขนหัวลุก เห็นกิ่งมะขามใหญ่ลงมากองอยู่กับพื้นดิน แต่กระเบื้องหลังคาศาลาที่ว่าไม่มีแตกแม้แต่แผ่นเดียว และทุกคนก็ไม่รู้ว่ามันหักท่าไหนจึงไม่โดนหลังคา

 หลวงปู่เนียม
วัดน้อย ตำบลโคกครามอำเภอบางปลาม้า
จังหวัดสุพรรณบุรี
(2372 –2451)

เกิด                  หลวงปู่เนียม  เกิดเมื่อปี  พ.ศ. 2372 ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 3  ท่านเป็นคนบางปลาม้า  จังหวัดสุพรรณบุรีโดยกำเนิด

บิดา– มารดา            บิดาเป็นคนบ้านส้อง ตำบลมดแดง อำเภอศรีประจันต์  มารดาของท่านเป็นคนบ้านป่าพฤกษ์  ตำบลตะค่า  อำเภอบางปลาม้า  หลวงปู่มีพี่สาวชื่อจาด  ท่านเป็นคนที่สอง  มีน้องชายหนึ่งคน ชื่อเสียงใดไม่ปรากฎ

การศึกษา       เหมือนลูกชาวบ้านทั่วไป คือเรียนอักขรวิธีและภาษาบาลีจากพระในวัดใกล้บ้าน

อุปสมบท      เมื่อครบบวช (พ.ศ.2392 – 2393)  ก็บวชตามประเพณี  คาดว่าคงเป็นวัดป่าพฤกษ์หรือไม่ก็วัดตะค่า  เล่ากันว่าเมื่อหลวงปู่อยู่ในสมณเพศแล้ว ท่านก็เข้ามาอยู่ในกรุงเทพ ฯ  เพื่อศึกษาพระธรรมวินัย  มูลกัจจายนสูตร  วิปัสสนา และเวทย์มนต์คาถาจากพระเถรานุเถระสำนักต่าง ๆ หลวงปู่พำนักเล่าเรียนอยู่ที่เมืองบางกอก ถึง 20  พรรษา  เมื่อร่ำเรียนจนจบกระบวนการแล้ว  ท่านก็กลับมาอยู่ที่วัดที่ท่านบวชชั่วระยะหนึ่ง  แล้วก็ย้ายไปอยู่ที่วัดรอเจริญ อำเภอบางปลาม้า  (อยู่เยื้องลงมาทางใต้ของวัดน้อยไม่กี่ร้อยเมตร)  ท่านอยู่ที่วัดรอเจริญได้ไม่นาน ชาวบ้านวัดน้อยเห็นแววของท่าน ก็มานิมนต์ท่านให้มาเป็นเจ้าอาวาสวัดน้อยที่ทรุดโทรมและกำลังร้าง เพราะขาดสมภารเจ้าวัด เมื่อท่านมาอยู่วัดน้อยตามศรัทธาของชาวบ้าน แล้วก็ร่วมมือกับชาวบ้านสร้างหอฉันและบูรณะโบสถ์วิหาร จนดีมีสภาพเป็นวัดขึ้นมาอีกครั้ง วัดน้อยเจริญรุ่งเรืองขึ้นเป็นลำดับ มีพระเณรมากขึ้นทุกที
                        เล่ากันว่า  ทุกก่อนเข้าพรรษา  ชาวบ้านทั้งในละแวดใกล้เคียงจะนำบุตรหลานมาให้ท่านบวชให้มากมาย  และที่จำพรรษาที่วัดน้อยก็มีเกือบสิบรูปทุกปี จนกล่าวได้ว่า หลวงปู่เนียมเป็นพระเกจิอาจารย์ที่เชี่ยวชาญทั้งคันถธุระและวิปัสสนาธุระ  ผู้ทรงวิทยาคมที่ถือว่าเป็นที่สุดยอดของพระมหาเกจิ – เถราจารย์ของเมืองสุพรรณบุรี ลูกศิษย์ของหลวงปู่เนียมที่ดัง ๆ ทั้งระดับท้องถิ่นและระดับประเทศก็มีหลายรูปด้วยกัน เช่นหลวงพ่ออ่ำแห่งวัดชีปะขาว  อำเภอบางปลาม้า  ที่ดังระดับประเทศก็คือ หลวงพ่อโหน่งวัดคลองมะดัน  อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี  ผู้เป็นพระอาจารยของหลวงพ่อสด วัดปากน้ำภาษีเจริญ  และอีกรูปก็คือ  หลวงปู่ปาน  วัดบางนมโค   อำเภอเสนา  จังหวัดพระนครศรีอยุธยา  ผู้เป็นอาจารย์ของหลวงพ่อฤาษีลิงดำ (พระราชพรหมยาน)  แห่งวัดท่าซุง  จังหวัดอุทัยธานี

มรณภาพ       หลวงปู่เนียมมรณภาพด้วยท่านอนไสยาสน์ เมื่อปี พ.ศ. 2451 สิริอายุได้ 75ปี
          หลวง พ่อเนียมวัดน้อย  บ้านสามหมื่น อ. บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี เป็นชื่อเกจิอาจารย์ที่มีชื่อเสียง ที่ชาวสุพรรณและผู้สะสมพระเครื่องต่างได้ยินชื่อเสียงของท่านเป็นอย่างดี ท่านเป็นที่เคารพนับถือโดยทั่วไป พระเครื่องของท่านมีชื่อลือกระฉ่อนในด้านปาฏิหาริย์ต่างๆ  ซึ่งเป็นเรื่องเล่าสืบต่อกันมายาวนานทีเดียว


          หลวงพ่อเนียม  เกิดเมื่อ พ.ศ ๒๓๗๒ (ประมาณสมัยรัชกาลที่ ๓)  มรณภาพปี ๒๔๕๓  บิดาเป็นชาวบ้านซ่องต. มดแดง อ. ศรีประจันต์ จ.สุพรรณบุรี มารดาเป็นชาวป่าพฤกษ์ต. ตะค่า อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี  หลวงพ่อเนียม มีพี่น้องหลายคน  ตัวท่านเป็นบุตรคนที่สอง


หลวงพ่อเนียมศึกษาและมีชีวิตคลุกคลีอยู่กับวัด เรียนอักขระขอมและภาษาบาลีจากวัดข้างเคียงที่ให้กำเนิดท่าน เมื่ออายุครบบวชทำการอุปสมบทในบวร พุทธศาสนา วัดใกล้บ้านท่านในราวปี พ.ศ. ๒๓๙๒-๒๓๙๓


        เมื่ออุปสมบทถือเพศบรรพชิตแล้ว ท่านได้ตั้งหน้าตั้งตาศึกษาพระธรรมวินัยและมูลกัจจายน์ในกรุงเทพฯ โดยพักอยู่ที่วัดระฆัง ธนบุรีอันเป็นช่วงที่ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี)ยังครองวัดนี้อยู่ จึงน่าจะเชื่อได้ว่า หลวงพ่อเนียม ได้รับการถ่ายวิชาอาคมจากเจ้าพระคุณสมเด็จฯ โต ไว้บ้าง เพราะหลังจากที่ หลวงพ่อเนียมได้เดินทางกลับสุพรรณบุรี ก็ไม่ปรากฏว่าท่านได้ศึกษาวิชาอาคมจากที่ใดอีก ซึ่งทำให้พระเครื่องที่ท่านได้สร้างไว้มีพุทธานุภาพเข้มขลังยิ่งนัก


       หลวงพ่อเนียม วัดน้อย ได้สร้างพระเครื่องเนื้อชินตะกั่วผสมปรอทไว้หลายพิมพ์ที่พบเห็นกันเสมอๆ คือ พิมพ์งบน้ำอ้อย ๒หน้า (ลักษณะกลมๆ  มีหลายขนาด เขาเรียกว่าพิมพ์สตางค์ห้า พิมพ์สตางค์สิบ  พิมพ์สตางค์แดง) พิมพ์เศียรโล้น  พิมพ์เศียรแหลม ๒หน้า (โดยมีลักษณะล้อพิมพ์ พระคง ลำพูน) ซึ่งเป็นพิมพ์นิยมและประสบการณ์สูง  นอกจากนี้ยังมีพิมพ์พระเจ้าห้าพระองค์ พิมพ์พระประธานเล็ก  ใหญ่ พิมพ์พระกริ่งครองตะเคียน พิมพ์พระถ้ำเสือ  พิมพ์ปรุหนังและพิมพ์อื่นๆ อีกหลายพิมพ์  พระเครื่องของท่านมีอายุเกือบ100 ปี แล้ว  มีทั้งที่มีไขสีขาวเกาะและไม่มีไขเกาะ


ภาพหลวงปู่เนียมเเละวัดน้อย

หลวงปู่เนียม











                                          
        

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น