วันจันทร์ที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2553

วัดมะนาว

วัดมะนาวจ.สุพรรณบุรี

"หลวงพ่อวัดมะนาว"พระพุทธรูปใหญ่คู่เมืองสุพรรณบุรี ประดิษฐาน ณ วัดมะนาว ต.ทับตีเหล็ก อ.เมืองจ.สุพรรณบุรี  หลวงพ่อวัดมะนาวมีพุทธศิลปะที่ไม่เหมือนใครด้วยผู้จัดสร้างตามจินตนาการ เพื่อถวายเป็นพุทธบูชาเป็นวัดที่สร้างจากไม้เป็นทรงไทยหมู่ เป็นวัดที่มีความเก่าแก่อายุไม่น้อยกว่า 140-150ปี เนื้อองค์หลวงพ่อวัดมะนาวมีการสร้างจากปูนซีเมนต์จากต่างประเทศในสมัยนั้นผสมมวลสารชนิดต่างๆ เข้าไป และในองค์หลวงพ่อวัดมะนาวยังมีพระเครื่องจำนวนมากมายอยู่ด้านในองค์และใต้ฐานหลวงพ่อวัดมะนาวมีความสูง 6 เมตร หน้าตักกว้าง 5 เมตร มีสีทองทั่วองค์พระพุทธรูป ซึ่งเนื้อองค์พระมีความแข็งแรงมาก
           ชาวบ้านเล่ากันว่ามีโจรมาพยายามขุดเพื่อจะเอาพระในหลวงพ่อวัดมะนาว แต่ไม่สามารถขุดและเจาะเข้าไปได้ และประดิษฐานอยู่ที่บริเวณหน้าวัดกลางแจ้งซึ่งมีการสร้างพุทธกุฏิ กว้าง 12 เมตร ยาว 24 เมตรสร้างด้วยไม้สักเป็นฝาทรงไทย ไม้ประดู่ทำพื้น และไม้ตะเคียนทำโครงสร้างครอบหลวงพ่อวัดมะนาวไว้เพื่อให้ประชาชนได้เข้าสักการะหลวงพ่อวัดมะนาว ดำเนินการสร้างเมื่อปี 2549 สร้างเสร็จเมื่อปลายปี 2551 ใช้เวลาในการสร้าง 1ปี 6 เดือน ด้วยงบประมาณกว่า 12 ล้านบาท และมีการเปิดให้ประชาชนเดินทางเข้ากราบไหว้ได้แล้วในขณะนี้
สำหรับ หลวงพ่อวัดมะนาวชาวบ้านเชื่อถือกันว่าหญิงสาวสตรีที่มีครรภ์คนใดได้ดื่มกินหรืออาบน้ำมนต์หลวงพ่อวัดมะนาว จะทำให้คลอดบุตรง่ายปลอดภัยทั้งแม่และบุตร เด็กที่คลอดออกมามีสุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์ เลี้ยงง่ายไม่มีโรคภัยเบียดเบียน
       ชาวบ้านเชื่อกันว่า ผู้ใดเดินทางมากราบไหว้หลวงพ่อวัดมะนาวแล้วบ้านเรือนที่อาศัยจะไม่เกิดไฟไหม้อย่างเด็ดขาดบางรายขอให้การงานก้าวหน้า ครอบครัวเจริญรุ่งเรือง ซึ่งเมื่อสมประสงค์ดังใจหมายจะมีการนำภาพยนตร์หนังกลางแปลงลิเก จัดหมากพลู ขนมต้มขาว ต้มแดง มาถวาย เพื่อแก้บน


วัดมะนาวเป็นที่รู้จักกันดีสำหรับนักสะสมนิยมพระเครื่องและเซียนพระทั่วไปเนื่องจากชื่อของหลวงพ่อโบ้ย พระเกจิอาจารย์ชื่อดังแห่งเมืองสุพรรณบุรี ผู้มากด้วยเมตตาธรรมมักน้อย ถือสันโดษ มีพลังจิตที่เข้มขลังอาคมที่แก่กล้า นามของท่านจึงขจรขจายไปไกลทั่วภาคกลางเป็นที่รู้จักและมีชื่อเสียงในด้านพุทธคุณ และประสบการณ์มากมายให้ประจักษ์ เลื่องลือกันมาช้านานแล้วในอดีตพระเครื่องของหลวงพ่อโบ้ย ไม่ได้รับความสนใจจากนักสะสมพระเครื่องเท่าที่ควร เพราะจำนวนพิพม์และจำนวนพระมีมากทำให้เสาะหามาสะสมได้ไม่ยากนัก  แต่ในปัจจุบันหาเป็นเช่นนั้นไม่จำนวนพระเครื่อง ของหลวงพ่อโบ้ยได้ร่อยหรอและหายากขึ้นมิได้เป็นพระราคาเยาวชนเหมือนในอดีต แต่กลับกลายเป็นพระที่มีความนิยมกันอย่างกว้างขวางมากขึ้นหลวงพ่อโบ้ยเกิดเมื่อปี ๒๔๓๕ (ปีมะโรง) ไม่ทราบวันเดือนที่แน่ชัด ณ บ้านสามหมื่น ต.บางปลาม้าอ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี โยมบิดาชื่อ โฉมศรี ส่วนโยมมารดาไม่ทราบชื่ออาชีพทำนาต่อมาเมื่อปี ๒๔๕๖ อายุ ๒๑ ปี ได้อุปสมบท ณ วัดมะนาว ต.ทับตีเหล็กอ.เมือง จ.สุพรรณบุรี ศึกษาพระธรรม และจำพรรษาอยู่ที่วัดมะนาว ได้ราว ๓ พรรษา จึงได้เดินทางไปศึกษาต่อด้านพระธรรมวินัยและอักขระขอม ที่วัดชีปะขาว (วัดศรีสุดาราม) ธนบุรี เมื่อปี๒๔๕๙ จากนั้นจึงได้ศึกษาต่อด้านวิปัสสนากรรมฐาน ที่วัดอมรินทร์โฆสิตาราม เป็นเวลา๘-๙ ปี จึงได้กลับมาจำพรรษาที่วัดมะนาว ในปี ๒๔๖๖ และในปีถัดมาจึงได้มีโอกาสไปศึกษาต่อวิชาวิปัสนากรรมฐานกับหลวงพ่อปาน วัดบางนมโค จ.พระนครศรีอยุธยา เป็นเวลา ๑ พรรษาจึงได้กลับมาจำพรรษาที่วัดมะนาวต่อไป

                 หลวงพ่อโบ้ยเป็นพระที่ถือสมถะ สันโดษ มักน้อยไม่สะสมทรัพย์สมบัติใดๆ ได้รับกิจนิมนต์ไป โปรดญาติโยม ไปสวดมนต์ ไม่ว่าที่ใด หากญาติโยมถวายเงินปัจจัยเป็นจำนวนมากๆท่านจะ ไม่ยอมรับไว้ เหตุนี้ท่านจึงไม่ยอมรับตำแหน่งเจ้าอาวาส ทั้งไม่รับครองผ้ากฐินวัตรปฏิบัติของท่านที่ทำเป็นประจำคือท่านจะตื่นตั้งแต่ตีสี่ทุกวัน และทำวัตรสวดมนต์ จนกระทั่งรุ่งเช้า จึงออกไปบิณฑบาตเมื่อกลับมาถึงวัดท่านจะนิมนต์ พระทุกรูปในวัดยืนเข้าแถว แล้วจะตักข้าวในบาตรของท่านถวายแด่พระทุกรูปเป็นเช่นนี้ประจำอยู่ทุกวันดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกสำหรับการสร้างวัตถุมงคลแจกฟรีโดยไม่ยอมรับปัจจัยเด็ดขาด จึงนับได้ว่าท่าน เป็นพระผู้สละแล้วซึ่งทุกสิ่ง ท่านมรณภาพเมื่อวันที่๑๘ มกราคม ๒๕๐๘ พระเครื่องของหลวงพ่อโบ้ย มีมากมายหลากหลายพิมพ์ให้ศึกษา สะสมส่วนมากที่พบมักจะเป็น พระเนื้อโลหะผสม โดยสร้างล้อพิมพ์ต่างๆ จากพระเก่า พระกรุ และพระเกจิอาจารย์ที่ท่านนับถือและมีชื่อเสียงในอดีต เช่นที่เป็นพิมพ์พระกรุ ได้แก่ พิมพ์ลีลา พิมพ์ขุนแผน(จักรนารายณ์) พิมพ์มเหศวร พิมพ์ปรุหนัง พิมพ์ซุ้มระฆัง เป็นต้น ส่วนพิมพ์ของพระเกจิอาจารย์ต่างๆได้แก่ พิมพ์สมเด็จปรกโพธิ์ พิมพ์ขี่ครุฑ (หลวงพ่อปาน)พิมพ์สร้อยสังวาลย์ พิมพ์งบนํ้าอ้อย พิมพ์นางกวัก พิมพ์กลีบบัว พิมพ์พระปิดตาพิมพ์นาคปรก และพิมพ์อื่นๆ อีกมากที่ได้รับการยอมรับเป็นพิมพ์มาตรฐานในการเล่นหาและสะสม พระเครื่องรุ่นแรกของหลวงพ่อโบ้ย จัดสร้างเมื่อประมาณปี ๒๔๗๓ เป็นพระเนื้อโลหะผสมโดยกระแสหลักคือทองเหลือง โดยมากเป็นฝาบาตร ขันลงหิน ช้อนทัพพี เชี่ยนหมาก เงินและทองคำที่ชาวบ้านและญาติโยมผู้มีจิตศรัทธาร่วมทำบุญถวายเพื่อสร้างพระเครื่องดังนั้นพระของท่านจึงมีเนื้อหาหลายกระแส เช่น เนื้อขันลงหิน บางองค์เป็นเนื้อสำริดแก่เงินและบางองค์ก็เป็นสำริดแก่ทอง สีสันและผิวพรรณจะไม่เท่ากันทุกองค์ ดังนั้นจึงต้องพิจารณาจากพิมพ์ทรงเป็นสำคัญ
                        พระเครื่องหลวงพ่อโบ้ยกลายเป็นวัตถุมงคลยอดนิยม ที่มีราคาเช่าบูชาไม่แพงแต่พุทธคุณยอดเยี่ยม โดยเฉพาะด้านแคล้วคลาดปลอดภัย, คงกระพันชาตรี วัตถุมงคลหลวงพ่อโบ้ยมีประสบการณ์มากมาย เล่าลือกันว่า เคยมีคนโดนยิงตกน้ำยังไม่เข้ามีเพียงแต่รอยไหม้เท่านั้น และอีกรายยิงต่อสู้กับโจรปล้นบ้าน ถูกยิงอย่างแรงจนหงายหลังแต่กระสุนปืนไม่ระคายผิว ชาวสุพรรณฯ ต่างโจษขานเรื่องนี้กันไปทั่ว

ภาพบรรยากาศวัดมะนาว








ศาลหลักเมือง

ศาลหลักเมือง
ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง
ที่ตั้ง
          ศาลหลักเมืองตั้งอยู่ในเขตเมืองโบราณสุพรรณบุรี บนถนนมาลัยแมน ตำบลรั้วใหญ่ อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี
สาระสำคัญ
ชาวสุพรรณนิยมเรียกศาลหลักเมืองว่า  "ศาลเจ้าพ่อหรือศาลเจ้าพ่อหลักเมือง"
อยู่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำสุพรรณบุรี (แม่น้ำท่าจีน) ห่างจากฝั่งแม่น้ำไปตามถนนมาลัยแมน เดิมเป็นศาลไม้ทรงไทยมีเทวรูปพระอิศวรและพระนารายณ์สวมหมวกเติ๊ก(หมวกทรงกระบอก) สลักด้วยหินสีเขียว  ปัจจุบันได้สร้างศาลเป็นรูปวิหารและเก๋งจีน  เจ้าพ่อหลักเมืองนี้เป็นพุทธประติมากรรมสลักบนแผ่นหินแบบนูนต่ำในพุทธศาสนาลัทธิมหายาน แบบศิลปเขมรอายุราว พ.ศ.1185–1250 หรือประมาณ 1,300-1,400 ปีมาแล้ว มีพระนามว่า พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร หรือที่เรียกกันว่า พระนารายณ์สี่กร เป็นที่สักการะบูชาทั้งชาวไทยและชาวจีน ตามประวัติกล่าวว่า ประมาณ 150 ปีมาแล้วมีผู้พบพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร จมดินจมโคลนอยู่ริมคลองศาลเจ้าพ่อ  จึงได้ช่วยกันอัญเชิญขึ้นข้างบนพร้อมกับสร้างศาลเป็นที่ประทับ  ในคราวเสด็จประพาสต้นเมื่อ พ.ศ. 2447 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเคยเสด็จทรงกระทำพิธีกรรมเจ้าพ่อหลักเมืองและพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ก่อเขื่อนรอบเนินศาล ทำชานสำหรับคนบูชา สร้างกำแพงแก้ว ต่อตัวศาลออกมาเป็นเก๋งแบบจีน  สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัติวงศ์กับเจ้าพระยายมราช ทรงสนพระทัยในการปรับปรุงศาลเจ้าพ่อหลักเมืองเมื่อในราว พ.ศ. 2480 ทุกปีในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน ของจีน  มีการสร้างกำแพงล้อมเขตเป็นรูปสี่เหลี่ยม มีประตูเข้าด้านหน้า มีศาลาพักคนบูชา และปี พ.ศ. 2507 คณะกรรมการศาลเจ้าพ่อหลักเมืองได้ปรับปรุงซ่อมแซมศาลหลักเมืองใหม่ และยังคงรูปแบบอาคารซึ่งเป็นอาคารทรงไทยไว้ภายในอาคารทรงตึกซึ่งเป็น สถาปัตยกรรมแบบจีนอีกด้วย หลังจากนั้นก็มีการซ่อมแซมก่อสร้างเรื่อยมาจนปัจจุบันและกำหนดเป็นประเพณีบวงสรวงศาลหลักเมืองหรือ "ปูนเถ้าก๋ง" ขึ้นเป็นการประจำปีในทุกวันที่ 18 เดือน 7 หลังวันสารทจีนตามปฏิทินจีน เรียกว่า งานทิ้งกระจาด เป็นคติพุทธมหายาน ถือเป็นการเจริญเมตตาธรรมแก่ดวงวิญญาณที่ล่วงลับไปแล้ว ผู้คนในตลาดจะนำเครื่องอุปโภคบริโภคมาแจกจ่ายเป็นทานแก่ผู้ยากจน และได้ปฏิบัติประเพณีนี้อย่างยิ่งใหญ่สืบเนื่องกันมายาวนานจนถึงปัจจุบัน 

การขึ้นทะเบียน
         กรมศิลปากรได้ ประกาศ ขึ้นทะเบียนศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสุพรรณบุรี    ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 52 ตอนที่ 75 วันที่ มีนาคม  พ.ศ. 2478

ภาพบรรยากาศศาลหลักเมือง









วัดป่าเลไลยก์วรวิหาร

วัดป่าเลไลยก์วรวิหาร

วัดป่าเลไลยก์วรวิหาร
เดิมชื่อ วัดลานมะขวิด เป็นวัดเก่าแก่คู่บ้าน คู่เมืองที่สำคัญของจังหวัดสุพรรณบุรมาแต่โบราณ ตั้งอยู่ที่ริมถนนมาลัยแมน ตำบลรั้วใหญ่ ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำสุพรรณบุรี เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร เป็นวัดเก่าแก่หน้าบันของวิหารวัดป่าเลไลยก์มีเครื่องหมายพระมหามงกุฎอยู่ระหว่างฉัตรคู่ บอกให้ทราบว่าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จธุดงค์มาพบสมัยยังทรงผนวชอยู่ เมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์แล้วจึงทรงมาปฏิสังขรณ์ สันนิษฐานว่าวัดนี้สร้างในสมัยที่เมืองสุพรรณบุรีรุ่งเรือง ในพงศาวดารเหนือกล่าวว่า พระเจ้ากาแตทรงให้มอญน้อยมาบูรณะวัดป่าเลไลยก์ภายหลัง พ.ศ. 1724 ที่วัดแห่งนี้ประชาชนนิยมมานมัสการ หลวงพ่อโต ซึ่งประดิษฐานอยู่ในวิหารสูงเด่นเห็นแต่ไกล เป็นพระพุทธรูปปางป่าเลไลยก์ ศิลปะสมัยอู่ทองสุพรรณภูมิมีลักษณะประทับนั่งห้อยพระบาท พระหัตถ์ซ้ายวางคว่ำบนพระชานุ พระหัตถ์ขวาวางหงายบนพระชานุอีกข้างหนึ่งในท่าทรงรับของถวาย องค์พระสูง 23.46 เมตร รอบองค์ 11.20 เมตร มีนักปราชญ์หลายท่านว่า หลวงพ่อโตเดิมคงเป็นพระพุทธรูปปางปฐมเทศนา สร้างไว้กลางแจ้งเหมือนพระพนัญเชิงในสมัยแรกๆ เพราะมักจะพบว่า พระพุทธรูปขนาดใหญ่ที่สร้างในสมัยก่อนอยุธยาและอยุธยาตอนต้น ส่วนมากชอบสร้างไว้กลางแจ้งเพื่อให้สามารถมองเห็นได้แต่ไกล ภายในองค์พระพุทธรูปนี้บรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่ได้มาจากพระมหาเถรไลยลายจำนวน 36 องค์ หลวงพ่อโตเป็นที่เคารพนับถือของประชาชนในจังหวัดสุพรรณบุรีและจังหวัดใกล้เคียง ทุกปีจะมีงานเทศกาลสมโภชและนมัสการหลวงพ่อวัดป่าเลไลยก์ ครั้ง คือ ในวันขึ้น 7-9 ค่ำ เดือน และเดือน 12
  ตรงข้ามวิหารวัดมีร้านขายสินค้าที่ระลึกพื้นเมืองหลายร้านให้แวะเลือกซื้อ ด้านหลังวัดมี คุ้มขุนช้าง ซึ่งสร้างเป็นเรือนไทยไม้สักหลังใหญ่กว้างขวาง ตามบทพรรณนาเรือนของขุนช้างในวรรณคดีเรื่องขุนช้างขุนแผน ขึ้นไปบนเรือนจะเห็นฉากภาพวาดตัวละครขุนช้างสำหรับให้นักท่องเที่ยวถ่ายรูปเป็นที่ระลึก บนเรือนแต่ละห้องมีภาพบรรยายเล่าเรื่องขุนช้างขุนแผน มีตู้จัดแสดงภาชนะเครื่องใช้ไม้สอยต่างๆไม่ว่าจะเป็นฉากกั้นหรือถ้วยโถโอชามเก่าแก่แบบต่างๆ

ภาพบรรยากาศภายในวัดป่าเลไลยก์วรวิหาร


                                      



  








แผนที่ไปวัดป่าเลไลยก์วรวิหาร