วันพุธที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2553

หลวงพ่อขอม

หลวงพ่อขอม วัดไผ่โรงวัว
  พระหลวงพ่อขอม วัดไผ่โรงวัว อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี

ประวัติของหลวงพ่อขอม
 เดิมท่านชื่อ เป้า แต่เพื่อนๆ เรียกท่านว่า ขอม เมื่อได้ก้าวเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์แล้ว พระขอม หรือ อนิโชภิกษุ ได้จำพรรษาอยู่ที่ วัดบางสาม ได้ตั้งหน้าตั้งตาศึกษาพระธรรมวินัย ด้วยความเอาใจใส่อย่างยิ่ง และปฏิบัติตนในศีลาจารวัตรเป็นอย่างดี อยู่หลายปี จนกระทั่งเวลาแห่งความเปลี่ยนแปลงมาถึง ได้มีสำนักสงฆ์สร้างขึ้นใหม่แห่งหนึ่ง มีชื่อเรียกตามความนิยมของชาวบ้านว่า วัดไผ่โรงวัว  ที่นี่ไม่มีสมภารเจ้าวัด บรรดาชาวบ้านย่านนั้นซึ่งจับตาดูพระขอมมาตั้งแต่ต้น ลงความเห็นพ้องต้องกันว่า ผู้ที่สมควรได้รับตำแหน่งสมภารวัดใหม่นี้ ไม่มีท่านใดเหมาะเท่า พระขอมเมื่อลงความเห็นดังนี้ ต่างก็พากันกันไปนิมนต์ พระขอม ให้ไปจำพรรษาอยู่ที่วัดไผ่โรงวัว พระขอมซึ่งเคยเป็นที่คุ้นเคยกับพุทธบริษัทที่นั่น ไม่อาจขัดศรัทธาได้ จึงย้ายไปจำพรรษาอยู่ที่วัดนั้นเป็นเวลา ๒ ปี 
ชีวิตของท่านในช่วงนี้ หากจะขาดก็คือขาดสถานศึกษาเล่าเรียนพระพุทธศาสนา เพราะวัดไผ่โรงวัวเป็นวัดใหม่ สิ่งนี้ทำให้พระขอมพิจารณาตนเอง และเห็นว่าอันธรรมวินัยของพระศาสดานั้น ท่านยังเข้าไม่ถึงพอที่จะเป็นสมภารเจ้าวัดได้ หากผู้ศรัทธายังประสงค์จะให้ท่านเป็นผู้นำของวัดนี้อยู่ ท่านก็จำต้องเสาะแสวงหาความรู้เพิ่มเติม  ดังนั้นท่านจึงขอย้ายไปจำ พรรษาที่ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ซึ่งอยู่ในตัวเมืองสุพรรณบุรี แล้วไปศึกษาพระปริยัติธรรมที่วัดประตูสารใกล้ๆ กับวัดพระศรีรัตนมหาธาตุที่ท่านจำพรรษาอยู่นั่นเอง  การศึกษาพระปริยัติธรรมของพระขอมดำเนินไป ๓ ปี ก็สอบไล่ได้นักธรรมชั้นเอก อันเป็นความรู้ชั้นเถรภูมิ  คราวนี้ท่านกลับมาสู่วัดไผ่โรงวัวอีกครั้งหนึ่ง อย่างสมภาคภูมิ กลับมาอย่างผู้พร้อมที่จะบริหารภารกิจให้พระศาสนาอย่างเต็มที่
ดังได้กล่าวแล้วว่า วัดไผ่โรงวัวเป็นวัดใหม่ จึงยังไม่ถึงพร้อมในทุกๆ ด้าน  คือไม่มีอะไรเป็นชิ้นเป็นอันเลย  กุฏิที่อยู่จำพรรษาของพระภิกษุสามเณร ก็เป็นกระต๊อบมุงจากเก่าๆ มีอยู่เพียง ๒ หลัง  ศาลาการเปรียญที่เป็นที่บำเพ็ญกุศลของทายกทายิกา เป็นเพียงเรือนไม้ไผ่หลังคามุงจาก อาศัยพื้นดินเป็นพื้นของศาลา  ภาระของพระขอม คือต้องปรับปรุงศาสนสถานแห่งนี้ให้น่าพักพิงสมกับเป็นวัดก่อน เพื่อจะได้เป็นหนทางนำไปซึ่งการปรับปรุงจิตใจของชาวบ้านผู้ศรัทธาเป็นชั้นที่สอง และเนื่องจากบรรดาชาวบ้านต่างมีศรัทธาพระขอมเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว งานปรับปรุงก่อสร้างชั้นแรกจึงผ่านไปได้ไม่ยาก เริ่มด้วยการถมดินไม่ให้น้ำท่วมวัดได้ เพราะบริเวณดังกล่าวเป็นที่ลุ่มมาก ถึงฤดูฝนคราใดน้ำท่วมทุกปี และท่วมมากขนาดเรือยนต์เรือแจวแล่นถึงกุฏิได้
เมื่อ ถมดินเสร็จ ท่านได้จัดการขุดสระน้ำสำหรับเป็นที่สรงน้ำ และน้ำดื่มของพระภิกษุสามเณร และเพื่อชาวบ้านทั้งหลายจะได้อาศัยอาบกินโดยทั่วไป แล้วซ่อมกุฏิที่ชำรุดทรุดโทรม สร้างศาลาการเปรียญ สร้างโบสถ์ จัดสรรให้เหมาะสมเป็นระเบียบเรียบร้อยสวยงาม สมกับคำว่า วัดทำให้ศรัทธาของชาวบ้านก็เพิ่มมากขึ้น  นับตั้งแต่พระขอมได้บวชเป็นพระสงฆ์ ท่านมีความตั้งใจมั่น ดังที่เรียกว่ามโนปณิธาน เรื่องนี้ท่านกล่าวกับผู้ใกล้ชิดว่า
“... อาตมาได้ฟังพระท่านเทศน์ว่า บุคคลผู้ใดเลื่อมใส ได้สร้างพระพุทธรูป จะเล็กเท่าต้นคาก็ดี โตกว่าต้นคาก็ดี ผู้นั้นจะได้เป็นพรหม เป็นอินทร์ หมื่นชาติแสนชาติ ถ้าเกิดเป็นมนุษย์ก็จะได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ หมื่นชาติแสนชาติ ผู้นั้นจะไม่เป็นผู้ตกต่ำเลย จนตราบเท่าเข้าสู่พระนิพพาน ถ้าผู้ใดสร้างพระพุทธรูปด้วยทองคำ ผู้นั้นจะได้เกิดเป็นองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า...  ด้วยมโนปณิธานนี้เอง ทำให้ท่านขอมคิดเริ่มสร้าง พระพุทธโคดม ด้วยทองสัมฤทธิ์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก พ. ศ. ๒๕๐๐  มีขนาดหน้าตักกว้าง ๑๐ เมตร สูง ๒๖ เมตร  หลวงพ่อขอมเริ่มบอกบุญแก่ญาติโยม ใช้เวลา ๒ ปี กว่าจะเริ่มสร้างได้ เนื่องจากเป็นงานใหญ่นั่นเอง ถึงต้องใช้เวลาสร้างทั้งหมด ๑๒ ปี จนแล้วเสร็จ พ.ศ. ๒๕๑๒
ภาย ในบริเวณวัด มีสิ่งก่อสร้างเกี่ยวกับพุทธศาสนา เช่น วังสามฤดู ของเจ้าชายสิทธัตถะ สถานที่แสดงปฐมเทศนา ตรัสรู้ และปรินิพพาน เมืองนรก เป็นต้น
                 หลวงพ่อขอม ท่านมักได้รับนิมนต์ไปร่วมพิธีอธิษฐานจิตปลุกเสกในงานพุทธาภิเษกตามวัดต่างๆ จนนับครั้งไม่ถ้วน ยิ่งงานใหญ่ๆ ต้องมีท่านด้วยเสมอ ขณะไปปลุกเสกในการสร้างพระให้วัดอื่นๆ ท่านมีปณิธานว่า จะสร้างพระจำนวนโกฏิ (สิบล้านองค์) "สิบ ล้านองค์" เป็นจำนวนตัวเลขความตั้งใจในการจัดสร้างพระเครื่องและวัตถุมงคลโดยเริ่มสร้างตั้งแต่ปี ๒๔๗๓ จนถึงปี ๒๕๐๐ จำนวนการสร้างไม่แน่ชัด แต่ทราบเพียงว่า ท่านก็ยังสร้างอีกเรื่อยมา มีจำนวนหลายร้อยตุ่ม  แม้จะสร้างมาก แต่พระของท่านก็มีประสบการณ์ดีเช่นกัน คือ คนนำไปลองยิงแล้วมีผลเป็นมหาอุดด้วย
พระเครื่องและวัตถุมงคลที่ หลวงพ่อขอมสร้างไว้นั้น มีมากมายหลายแบบ หลายพิมพ์ แต่มีเพียง ๔ รุ่น หรือ ๔ พิมพ์เท่านั้น ที่ได้รับความนิยม คือ ๑.เหรียญทรงรูปไข่ รุ่นแรก (บล็อกตาแตก) ๒.เหรียญทรงรูปไข่ รุ่นสอง (บล็อกหน้าหนุ่ม)  ๓.รูปเหมือนหล่อ รุ่นแรก ได้รับความนิยมทั้งพิมพ์ใหญ่-พิมพ์เล็ก และ ๔.พระกำแพงศอก ซึ่งมีทั้งหมด ๗ พิมพ์  ทางด้านวัตถุมงคลโดดเด่นทางด้าน คงกระพันชาตรี แคล้วคลาดกันภัย โชคลาภค้าขาย เมตตามหานิยม


ภาพบรรยากาศภายในวัดไผ่โรงวัว











1 ความคิดเห็น: